หน้าแรกการเมืองถึงเวลาสร้างอนาคต!!'ดร.กำพล'ชี้ระบบการศึกษาสำคัญต่อการสร้าง'คน'สู่การ'สร้างอนาคตไทย'

ถึงเวลาสร้างอนาคต!!’ดร.กำพล’ชี้ระบบการศึกษาสำคัญต่อการสร้าง’คน’สู่การ’สร้างอนาคตไทย’

ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความระบุว่า ระบบการศึกษา กับ Digital and Innovation Driven Economy ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ ดร.อุตตม สาวนายน ที่กล่าวว่าประเทศไทยต้องสร้างภาคเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศ และวางโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต
.
พร้อมทั้งต้องสร้างคนและวิทยาการที่พร้อมก้าวสู่สังคมโลกแห่งอนาคต ลูกหลานไทยต้องมีความรู้และทักษะที่จะเลี้ยงชีพ มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเข้าใจวิทยาการสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ(https://www.posttoday.com/politic/news/679311) รวมถึงสนับสนุน พี่นริศ เชยกลิ่น ที่พูดเน้นว่าเราต้องผลักดันและตามเทรนด์ของโลกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล(https://today.line.me/th/v2/article/9mOJq8V)
.
อย่างที่ผมพูดในหลายโอกาสว่า เราควรเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม หรือ Digital and Innovation Driven Economy ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพของความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่มีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ผมยกตัวอย่างเสมอ คือ ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้ (30 มีนาคม 2565) ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปิดที่ 1,698.40 โดยมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 596 บริษัท คิดเป็นมูลค่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Market Capitalization) อยู่ที่ 20 ล้านล้านบาท
.
อธิบายให้เห็นภาพ คือถ้าเราเอาจำนวนหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 598 บริษัท คูณด้วยราคาหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565 จะมีมูลค่าเท่ากับ 20 ล้านล้านบาท ใน 596 บริษัท มีบริษัทใหญ่ที่เราคุ้นเคย อย่างเช่น PTT CPALL GULF BBL ADVANC รวมอยู่ด้วย แต่ทุกคนทราบไหมครับ ว่าหุ้นของ Facebook ซึ่งปัจจุบันเปลื่ยนชื่อเป็น Meta Platforms Inc. ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 620.19 พันล้าน USD ที่อัตราแลกเปลี่ยน ณ ปัจจุบันประมาณ 33.5 THB/USD มูลค่าตลาดของ Facebook อยู่ที่ 20.77 ล้านล้านบาท หมายความว่า Facebook บริษัทเดียวมีมูลค่ามากกว่า 598 บริษัทในประเทศไทยรวมกัน!!!
.
อีกตัวอย่างคือบริษัท Grab ที่พวกเราคงรู้จักดี บริษัท Grab ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีอายุเพียง 10 ปี และเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ปัจจุบันมูลค่าตลาดของบริษัท Grab อยู่ที่ 13.28 พันล้าน USD หรือคิดเป็นประมาณ 444,880 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ที่ก่อตั้งมามากกว่า 77 ปี ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 379,092  ล้านบาท บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ที่ก่อตั้งมามากกว่า 44 ปี
.
ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 210,975 ล้านบาท บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ที่ก่อตั้งมามากกว่า 16 ปี ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 365,540 ล้านบาท หรือบริษัทสยามแม็คโค จำกัด (มหาชน) (MAKRO) ที่ก่อตั้งมามากกว่า 34 ปี ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 425,858 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าบริษัท Grab ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ แก้ Pain Point ของผู้บริโภค สามารถขยายตลาดรวมถึงโอกาสทางธุรกิจ และสร้างบริษัทให้มีมูลค่าสูงกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัทในประเทศไทยที่ก่อตั้งมานานกว่า
.
นี่เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนมูลค่าของบริษัท และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ทุกคนต้องไม่ลืมว่าทั้ง เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มันขับเคลื่อนตัวมันเองไม่ได้ มันต้องถูกขับเคลื่อนด้วย “คน” และระบบการศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้าง “คน”
.
เรื่องของ Facebook และ Grab มีสิ่งที่เชื่อมโยงกับการศึกษาอย่างหนึ่งคือ คือ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก่อตั้งบริษัท Facebook ร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน ขณะกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่ แอนโทนี่ ตัน และ ฮุย ลิง ตัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Grab ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมชั้นกันที่ Harvard Business School แนวคิดกิจการของ Grab เกิดจากแผนธุรกิจที่ แอนโทนี่ ตัน และ ฮุย ลิง ตัน ส่งเข้าประกวดใน Business Plan Competition ที่จัดโดย Harvard Business School โดยแผนธุรกิจของ แอนโทนี่ ตัน และ ฮุย ลิง ตัน ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ในปี 2554 (https://www.longtunman.com/1606)
.
จะเห็นว่าระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ กอปรกับหลักสูตร รูปแบบการสอน ที่สอดรับและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อบริบทโลกและเทคโนโลยี มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้าง “คน” ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องระบบการศึกษาของไทยกับครูเป็ด มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร  นักแต่งเพลงและคอมเมนเตเตอร์ชื่อดัง และพี่เปิ้น รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ประธานมูลนิธิรวมพัฒน์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
.
ครูเป็ดเป็นคนที่มีความสนใจและทุ่มเทกับการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ในขณะที่พี่เปิ้น มีความใฝ่ฝันและกำลังขับเคลื่อนแนวทางให้เด็กๆในหมู่บ้านตามชนบท ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับการศึกษาในชุมชนเมือง ผม ครูเป็ด และพี่เปิ้น (และน่าจะรวมถึงทุกคนในประเทศนี้)) เห็นว่าการศึกษาเป็นความเหลื่อมล้ำที่เราควรให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ
.
ยกตัวอย่างผม ผมมีลูก 2 คน ผมและภรรยาคุยกันว่าอยากให้ลูกมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี และได้รับการสอนในรูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ จึงตัดสินใจส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนอินเตอร์ที่ค่าเล่าเรียนอยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น ผมคำนวณแล้ว (ตามนิสัย อาจ่ารย์สอน Finance 555) ถ้าผมส่งลูกเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมในโรงเรียนอินเตอร์ ผมจะเสียค่าเล่าเรียนลูก มากกว่าค่าเล่าเรียนที่ต้องเสียในการเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก เสียอีก!!! 
.
ผมคิดว่างั้นส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์จนถึงระดับประถมแล้วค่อยย้ายไปเข้าโรงเรียนสาธิตหรือโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียง  แต่หลายคนก็บอกว่าการเอาลูกเข้าเรียนโรงเรียนดังๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  นี่ขนาดผมอยู่ในชุมชนเมือง ผมยังเจอความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาขนาดนี้ คงไม่ต้องพูดถึงว่าเด็กๆที่อยู่ตามชนบท จะต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาขนาดไหน ทั้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษา และความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา
.
หลังการพูดคุย ผม ครูเป็ด และพี่เปิ้น เห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพราะถ้าเราไม่ทำในวันนี้ เราจะมีส่วนในการทำลายอนาคตของลูกหลานเรา ดังคำกล่าวของ John Dewey นักจิตวิทยาและนักปฏิรูปด้านการศึกษาชื่อดังที่กล่าวไว้ว่า“If we teach today’s students as we taught yesterday’s, we rob them of tomorrow”
.
ถ้าระบบการศึกษาไทยในวันนี้ ยังสอนลูกหลานเราในรูปแบบเดิมที่ใช้สอนในอดีต เรากำลังขโมยและทำลายอนาคตของลูกหลานเรา ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะมาร่วมกันปฏิรูประบบการศึกษาไทย  ครูเป็ด พี่เปิ้น รวมถึงผมและทีมที่ดูแลด้านการศึกษาได้คิด Blueprint และมีแนวคิดที่น่าสนใจรวมถึงมีเครือข่ายที่เข้มแข็งพร้อมมาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา โดยจะนำเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการจัดการการศึกษา และหลักสูตรสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา 
.
ทำให้การศึกษาของไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้นทั่วถึงขึ้น (Easier to access) ต้นทุนการเข้าถึงการศึกษาลดลง (Lower costs) และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ (Better learning) ซึ่งพวกเราจะนำมาแชร์และรับฟังความคิดเห็นในโอกาสต่อไป เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเราคิดว่าระบบการศึกษาสำคัญต่อการสร้าง“คน”และ“การสร้างอนาคตคน” เท่ากับ “การสร้างอนาคตไทย”
.
ThePOINT #ข่าวการเมือง #ทีมสมคิด #กำพลปัญญาโกเมศ #สร้างอนาคตไทย

Must Read

Related News

- Advertisement -