นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่นำเสนอข่าวและข้อความที่มีลักษณะหมิ่นสถาบัน รวมถึงเฟคนิวส์หรือข่าวปลอมที่นำเสนอผ่านสื่อโซเชียลอย่างจริงจัง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยเฉพาะเฟกนิวส์ที่เกี่ยวกับโควิค-19 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการขออำนาจศาลให้ออกคำสั่งไปยังแพลตฟอร์มของสื่อนั้นๆ ให้ปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลโดยเร่งด่วน
ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการขอคำสั่งศาลให้มีการปิดกั้นเพจและเฟซบุ๊กไปแล้ว 12,259 ยูอาร์แอล ยูทูบ 4,015 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 1,773 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์ 222 เว็บ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาดำเนินการ 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี หลังจากศาลมีคำสั่งไปแล้วแพลตฟอร์มของสื่อนั้นๆ อาจไม่ดำเนินการปิดกั้นก็ได้เพราะสื่อดังกล่าวตั้งอยู่ในต่างประเทศ การดำเนินส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเขาด้วย
.
นายชัยวุฒิ กล่าวถึงการดำเนินคดีต่อนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเป็นผู้ปล่อยข่าวอัปมงคลเกี่ยวกับสถาบันนั้น ทางกระทรวงดิจิทัลได้ประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้เร่งดำเนินการตามความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการในฐานความผิดตามมาตรา 112 ด้วย โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีต่อไป รวมถึงประสานไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนด้วย
.
“ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียในประเทศไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง และให้สิทธิประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แม้จะโพสต์สิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ห้ามไม่ได้ ทำได้เพียงตรวจสอบและดำเนินคดีหลังจากที่โพสต์ไปแล้วเท่านั้น ซึ่งการดำเนินคดีทางกฎหมายนั้นหากผู้กระทำผิดอยู่ภายในประเทศการดำเนินการเอาผิดจะง่ายกว่า แต่หากพำนักอยู่ในต่างประเทศก็ค่อนข้างยาก โดยที่ผ่านมา มีการแจ้งความดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไปแล้ว 18,269 ยูอาร์แอล โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายชัยวุฒิ กล่าว
.
ทั้งนี้ เป้าหมายในการดำเนินการต่อผู้ที่โพสต์ภาพหรือข้อความในลักษณะหมิ่นสถาบัน รวมถึงเฟกนิวส์ต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ อย่างเรื่องวัคซีนต้านโควิค-19 หรือโรงพยาบาลสนามนั้น เป้าหมายของกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้ต้องการนำคนผิดมาลงโทษเท่านั้น แต่มุ่งเน้นในเรื่องการป้องปรามให้คนเคารพกฎหมายและไม่กระทำผิดมากกว่า เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่าการโพสต์หรือแชร์ข่าวปลอม ข้อมูลที่บิดเบือน สร้างความตื่นตระหนก ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สังคมปั่นป่วน และบ้านเมืองเสียหายนั้นมีความผิดตามกฎหมาย
.
- Advertisement -