บรรยากาศการจัดงานลอยกระทงประจำปี 2564 วิถีใหม่สืบสานประเพณีไทย ปลอดภัยจากโควิด ที่ทุกจังหวัดทั่วไทยร่วมจัดกิจกรรม สืบสานประเพณีกระตุ้นการท่องเที่ยว ภายใต้วิถีใหม่แบบ New normal ตามสถานที่ต่างๆ อย่างคึกคัก พร้อมมาตรการควบคุมโรค เพื่อความปลอดภัยและลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด โดยจุดยอดฮิตที่คลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีวิถีไทยและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีต่อสายน้ำ โดยมีผู้สนใจร่วมงานจำนวนมากโดยเฉพาะวันรุ่นคนรุ่นใหม่ที่พากันถ่ายรูปเช็คอิน
.
ซึ่งการจัดงานลอยกระทงคลองโอ่งอ่าง”รื่นเริง รัตนโกสินทร์ ลอยกระทงวิถี New Normal” นอกจากจะเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันละเอียดอ่อนงดงามตามแบบไทย และเป็นโอกาสอันดีในการอวดโฉมย่านเก่าแก่ของเมืองที่มีความสวยงามร่วมสมัยแล้ว ยังเป็นการแสดงออกให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเห็นถึงความพร้อมของกรุงเทพมหานคร ในการกลับมาเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวอีกครั้ง
.
ขณะที่บรรยากาศงานลอยกระทง ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ก็คึกคักเป็นอย่างมากมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมากตามที่มีการแชร์ต่อภาพในโซเชียลมีเดียที่ผู้คนหลั่งไหลไปไม่ขาดสาย
.
นอกจากนี้ เพจ”ผู้ว่าฯอัศวิน” โพสต์ข้อความระบุว่า ปีนี้ยอดเก็บกระทงในแหล่งน้ำลดลง 89,302 ใบ ( 18.13% ) ส่วนใหญ่เป็นกระทงที่ทำจากธรรมชาติ หลังจากคืนวันลอยกระทง เจ้าหน้าที่ กทม.ได้เร่งเก็บกระทงในแม่น้ำ ลำคลองและสวนสาธารณะ ทั่วพื้นที่ กทม. ในปีนี้ เจ้าหน้าที่เก็บกระทงได้ ทั้งหมด 403,235 ใบ ส่วนใหญ่เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย จำนวน 388,954 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.46 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 14,281 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.54
.
ปี 2564 จัดเก็บกระทงได้ลดลงกว่าปี 2563 18.13 % จำนวน 89,302 ใบ (ปี 2563 จัดเก็บได้ 492,537 ใบ) กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563 จากร้อยละ 96.40 เป็น 96.46 กระทงโฟมลดลงจากร้อยละ 3.60 เป็น 3.54 พื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือ เขต จตุจักร จำนวน 12,595 ใบ ส่วนเขตที่มีปริมาณกระทงน้อยที่สุด คือเขต บางซื่อ จำนวน 99 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขต จตุจักร จำนวน 12,240 ใบ เขตที่จำนวนกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขต คลองสามวา จำนวน 470 ใบ
.
กระทงที่จัดเก็บได้ กทม.ได้ดำเนินการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และจะนำกระทงจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย ส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่โรงงานขยะหนองแขม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป
.
ขอขอบคุณ พี่น้องประชาชนทุก ๆคน ที่ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม “1 กระทง 1 ครอบครัว” ทำให้กระทงที่จัดเก็บได้ลดลงกว่าปีที่แล้ว และกระทงส่วนใหญ่ที่เก็บได้ก็เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ
.
- Advertisement -