เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษผ่านระบบทางไกลกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต โดยมี นายเตงกู ซาฟรุล เตงกู อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศมาเลเซีย เป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการรับมือกับนโยบายใหม่ของสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานโลกและการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี/รายย่อย และเกษตรกร การประชุมใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
นายพิชัยกล่าวว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าอาเซียนมีความกังวลต่อนโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ของของสหรัฐ เห็นว่าจะกระทบต่อการค้าระหว่างอาเซียนและสหรัฐที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน อาเซียนยืนยันจุดยืนร่วมในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้านกับสหรัฐ พร้อมเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ภายใต้กรอบ ASEAN-US Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) และ Expanded Economic Engagement (E3) Work Plan เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือในสาขาศักยภาพสูง เช่น ดิจิทัล AI อาหาร พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมขั้นสูง รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ สุขภาพ โลจิสติกส์ รวมถึงเกษตรกรรม เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ภูมิภาค
“สมาชิกอาเซียนเห็นตรงกันว่า อาเซียนจะไม่ใช้วิธีการตอบโต้ทางภาษีกับสหรัฐ เพราะเข้าใจถึงเหตุผลในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เน้นแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน แต่จะใช้วิธีการเจรจาที่แตกต่างกัน มีทั้ง 2 รูปแบบคือ เจรจารายประเทศ (ทวิภาคี) และเจรจาในนามกลุ่มประเทศอาเซียน (พหุพาคี) เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวต่อว่า ที่ประชุมร่วมออกแถลงการณ์ร่วม 8 ข้อ เพื่อกำหนดท่าทีต่อนโยบายทรัมป์ ได้แก่ เน้นความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ อาเซียนมีความกังวลต่อมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ สนับสนุนการเจรจาแบบพหุภาคี อาเซียนจะร่วมมือเจรจากับสหรัฐ อาเซียนจะปกป้องผลประโยชนอาเซียนเป็นหลัก อาเซียนพร้อมร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจกับสหรัฐ ตั้งคณะทำงาน ASEAN Geoeconomics Task Force ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับรัฐและเอกชน
นายพิชัยกล่าวว่า สำหรับกรณีทรัมป์เลื่อนใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีกับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐไป 90 วัน ทำให้ทุกประเทศมีเวลาเตรียมตัวและสามารถเจรจากับสหรัฐได้ ในส่วนของประเทศไทย ตนได้ติดต่อกับนายจามิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ปัจจุบัน USTR ได้ตอบรับจะหารือกับไทยแล้ว คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างนัดหมายวันประชุมเพื่อต่อยอดแนวทางความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐ เป็นไปตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ตนเป็นผู้เจรจาหลักกับ USTR สหรัฐ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่ไทยจะนำไปเจรจานั้นเป็นสิ่งที่สหรัฐต้องการ อยู่ใน 5 มาตรการที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้
_____________
#Thepoint #Newsthepoint
#สงครามการค้า #โดนัลด์ทรัมป์ #ขึ้นภาษี
#เจรจาภาษี #อาเซียน #พิชัยนริพทะพันธุ์