นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงิน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชานแดนภาคใต้ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัดสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 สาขา จากเดิมที่ได้เห็นชอบไปแล้ว 2,519.38 ล้านบาทเพิ่ม เป็น 13,504 .696 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10,985.316 ล้านบาท ส่วนอีก 3 จังหวัดที่ ศบค. ได้มีประกาศเพิ่มเติม ได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยานั้น ครม.ได้เห็นชอบในวันนี้ให้ขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด และจะนำกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
.
นายอนุชา ระบุอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติการเปลี่ยนแปลงโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ดังนี้ 1.ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับการสนับสนุน e-Voucher จากเดิมระหว่าง 1 ก.ค.- 30 ก.ย.2564 เป็นตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 พ.ย.2564
.
2.เพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ ไม่เกิน 10,000 บาท/คน/วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. -30 พ.ย. โดยยังจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน60,000 บาทต่อคน
.
- ปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ฯ จากเดิมที่ไม่เกิน 4 ล้านคน เป็น “ไม่เกิน 1.4 ล้าน”คน ทำให้กรอบวงเงินโครงการ ฯ ลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท
.
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่า จากการประกาศข้อกำหนดของ ศบค. ที่ผ่านมา ซึ่งให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ของประเทศ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 20.00 น. และเปิดให้เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดชั่วคราว จึงมีผลให้อาจจะมีผู้ใช้สิทธิ์น้อยลง จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อความเหมาะสมด้วย
.