หน้าแรกข่าวเด่น‘ดร.อานนท์’ เปรียบให้เห็น ศักดินา-กิริยา เจ้านาย-ไพร่ เข้าใจบุพการีสั่งสอนมาต่างกัน

‘ดร.อานนท์’ เปรียบให้เห็น ศักดินา-กิริยา เจ้านาย-ไพร่ เข้าใจบุพการีสั่งสอนมาต่างกัน

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า เช้านี้เห็นภาพที่เด็กหนุ่มผู้เป็นไอดอลนักข่าวขวัญใจวัยรุ่นสีส้มผู้เปี่ยมไปด้วยความยโสโอหังห่อหุ้มอัตตาอันแข็งแกร่ง ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมต้น แสดงให้เห็นว่าศักดินานั้นไม่มีแล้วอีกต่อไป ที่ยังคงหลงเหลืออยู่มากมายคือกิริยาไพร่ การเข้าเฝ้าเจ้านายสมัยนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหมอบกราบกันแล้ว เพราะเจ้านายท่านทรงปรับพระองค์สมัยใหม่ สบาย ๆ เป็นกันเองให้ประชาชนเข้าถึงได้ เด็กหนุ่มผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเลยทำตัวตามสบาย ๆ เอามือล้วงกระเป๋า เข้าเฝ้า ด้วยความภาคภูมิใจ กระทบไหล่เจ้านายต่างประเทศ ตัวเองก็แต่งตัวไม่เรียบร้อย สวมรองเท้าผ้าใบสบาย ๆ ในขณะที่เจ้านายต่างประเทศ ทรงสวมชุดประจำชาติ อันเป็นการให้เกียรติสูงสุดแต่ผู้มาเข้าเฝ้า และแก่ประเทศไทยด้วย

ผู้หลักผู้ใหญ่สั่งสอนผมมาว่า การเฝ้าเจ้านาย เราต้องแต่งตัวให้สุภาพสูงกว่าเจ้านายเสมอ เพื่อเป็นการถวายเกียรติเจ้านาย เช่น หากเจ้านายทรงสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีฉูดฉาด ผู้เข้าเฝ้าก็ต้องสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีเรียบร้อย ถ้าเจ้านายทรงสวมชุดสากล ผู้เข้าเฝ้าก็ควรต้องสวมชุดสากลหรือแต่งเครื่องแบบปกติขาวให้เรียบร้อยกว่าเป็นทางการกว่า

ในรูปนั้น เจ้านายต่างประเทศทั้งสมเด็จพระราชาธิบดีชิกเม เคซาร์ นัมเกยล วังชุกและสมเด็จพระราชินีเจจุน ปัทมา วังชุก ทรงแสดงกิริยาแบบเจ้านาย มีพระราชจริยาวัตร อ่อนน้อม งดงาม สำรวม และถ่อมพระองค์น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

นี่ไง ศักดินา-กิริยา เจ้านาย-ไพร่ ที่แตกต่างกันมากมาย ผมวิเคราะห์ตามอวัจนะภาษา (non-verbal communication) ตามเนื้อผ้าจริง ๆ

พระราชจริยวัตรของสมเด็จพระราชาธิบดีชิกเม เคซาร์ นัมเกยล วังชุกที่งดงามอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ เป็นที่ประจักษชัดเจนตาปวงชนชาวไทยมาช้านาน

สมเด็จพระราชาธิบดีชิกเม เคซาร์ นัมเกยล วังชุกและสมเด็จพระราชินีเจจุน ปัทมา วังชุก เมื่อทรงพบกับเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งรอธซีและเคท มิดเดิลตัน ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ พระชายา

ผู้อ่านคงสังเกตได้ชัดเจนว่า พระราชกิริยาของเจ้านายกับเจ้านาย ต่างนอบน้อมอ่อนตนต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเจ้านายประเทศฝ่ายตะวันออกหรือเจ้านายประเทศฝ่ายตะวันตก

ในขณะที่กิริยานักข่าวไทยใฝ่ส้มกับเจ้านายต่างประเทศ ช่าง กร่าง แสดงความมั่นใจ อีโก้ อัตตา อย่างน่าตกใจ ในขณะที่เจ้านายกลับนอมน้อมอ่อนพระองค์อย่างยิ่ง

เรื่องกิริยา-มารยาทนี้ คงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนต่างกันจากครอบครัวจริง ๆ ครับ ครอบครัวแต่ละครอบครัวคงมีพื้นฐานที่แตกต่างกันไปมาก

พ่อ-แม่ และบุพการี คงสั่งสอนมาแตกต่างกันมากค

สมัยนี้ไม่ต้องหมอบกราบ เจ้านายก็ไม่ทรงว่าอะไร ประชาธิปไตยเฟื่องฟูกันเต็มที่ แต่กิริยาที่แสดงออกมา คนมีสติปัญญา อ่านภาษากายออกหมดจดชัดเจน

กิริยาก็ยังบอกอะไรได้หลายอย่าง กิริยาไพร่ ก็ยังคงเป็นไพร่ ไร้การอบรมสั่งสอนจากบิดามารดามาดีพอกระมัง

มาลองศึกษาพิจารณาพระราชกิริยามารยาทของพระเจ้าแผ่นดินไทย เจ้านายไทย ที่ทรงอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ต่อญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ แม้จะทรงมีพระราชอิสริยยศสูงกว่าเพียงใดก็ตามกันบ้าง

รูปแรก วันที่ 21 มกราคม 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร เพื่อพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นการส่วนพระองค์ พระอาจารย์ฟั่นเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทางธรรม ถวายการสอนวิปัสนากรรมฐานแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสองพระองค์ประทับกับพื้นดิน กราบวันทาพระอาจารย์ฝั้นด้วยคารวธรรมถวายเกียรติสูงสุดแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ในทางธรรม เป็นตัวอย่างแห่งพระราชจริยวัตรอันอันอ่อนน้อมถ่อมพระองค์งดงามยิ่ง

รูปที่สอง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคุกพระชงฆ์ถวายน้ำสงกรานต์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทางธรรมที่ทรงเคารพศรัทธายิ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ คชวัตร)

รูปที่สาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงคุกพระชงฆ์ รับพระราชทานน้ำสังข์ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดา

พระราชจริยาวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จ ฯ นั้นเต็มไปด้วยความอ่อนน้อมยิ่ง แม้ประทับอยู่สูงกว่าบนพระเก้าอี้ แต่ก็กลับอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฯ ผู้ทรงเป็นป้าก็ทรงถวายพระเกียรติสูงสุดแก่พระราชนัดดาผู้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยทรงถือว่าพระองค์ทรงเป็นข้าแผ่นดิน

ในภาพนี้เราจะเห็นว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรีบลดพระองค์มาประทับกับพื้นในทันที เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

นี่คือความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ของเจ้านายและพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงปฏิบัติถวายพระเกียรติซึ่งกันและกันอย่างงดงาม

รูปที่สี่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคุกพระชงฆ์ กราบพระเพลา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ วังสระปทุม พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงมีพระกตัญญุตาต่อพระราชมารดา จึงจะทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมได้ พระราชจริยวัตรนี้จึงงดงามอ่อนน้อมยิ่ง

รูปที่ห้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงคุกพระชงฆ์และทรงคมเสด็จป้าวาปี หรือ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ที่ประทับบนรถเข็น พระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐกนิษฐาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ในรูปนี้เสด็จเยี่ยมเมื่อพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร องค์กุลเชษฐ์ คือ เจ้านายฝ่ายในที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดในเวลานั้น ซึ่งน่าจะประชวรอยู่ จะเห็นได้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ แม้พระราชอิสริยยศสูงกว่า ก็ทรงอ่อนน้อมถ่อมพระองค์กับพระญาติผู้ใหญ่ที่ทรงเคารพนับถือยิ่ง

รูปที่หก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถวายพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสมอ ทรงยึดหลักโปเจียม โดยทรงถือว่าทรงอ่อนกว่า จะเสด็จพระราชดำเนินตามหลัง และประทับเบื้องหลังสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสมอ

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จไปถึงก่อน แล้วประทับพระโธรนองค์หลังพระโธรนที่สมเด็จย่าจะประทับ เมื่อสมเด็จย่าเสด็จถึง ทรงตกพระทัยมาก รีบไปทูลเชิญเสด็จให้ไปประทับที่พระโธรนองค์หน้าแทน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ไม่ทรงยอมทำตาม ด้วยถวายพระเกียรติสมเด็จย่าว่าเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จย่าทรงก้มลงกราบพระบาทที่พื้น ไม่ยอมประทับพระโธรนจนกว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จะเสด็จไปประทับที่พระโธรนองค์หน้า

แม้จะทรงเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงถวายพระเกียรติสูงสุดแด่สมเด็จพระบรมราชินี

รูปที่เจ็ด สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประทับในระดับขั้นบันไดที่ต่ำกว่าเมื่อเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ณ วังวาริชเวสม์ ทั้ง ๆ ที่โดย พระอิสริยยศทรงสูงกว่า แต่ทรงคำนึงว่าพระองค์เจ้าวาปีบุษบากรเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ทั้งยังทรงเป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงเป็นพี่ของพระราชสวามีของสมเด็จย่าด้วย สมเด็จย่าจึงทรงถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียกว่าเสด็จป้าวาปี

รูปที่แปด พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับที่พื้นเพื่อถวายน้ำสงกรานต์แด่สมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ วังสระปทุม

รูปที่เก้า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับที่พื้นถวายน้ำสงกรานต์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จป้า ณ วังเลอดิส สุขุมวิท

รูปที่สิบ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีเฉลิมพระยศเจ้านายตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ประทับที่พื้นเพื่อกราบพระบาทในหลวง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ เสด็จลดพระองค์ลงจากพระโธรนมาประทับที่พื้นทันทีเพื่อถวายพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ สูงสุด นับเป็นพระราชจริยวัตรอันอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ยิ่ง

รูปที่สิบเอ็ด ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีเฉลิมพระยศเจ้านาย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประทับรถเข็นเข้าเฝ้าในหลวงฯ ในหลวง ฯ ทรงเจิมพระนลาฏพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ เสด็จลดพระองค์ลงจากพระโธรนมาประทับที่พื้นทันทีเพื่อถวายพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ อันเป็นพระราชจริยวัตรที่งดงามอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ยิ่ง

รูปที่สิบสอง ในงานออกพระเมรุมาศ พระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าในพระที่นั่ง ทรงคม (ไหว้) ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นพี่สาว ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ยิ่งทันที

รูปที่สิบสาม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชทานน้ำสงกรานต์พระอาจารย์ผู้ถวายพระอักษรที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยพระราชจริยวัตรอันอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ พระราชทานพระเมตตาแก่พระอาจารย์ทั้งสองพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ในรูปคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐานิสร์ ชาครัตพงศ์ และรองศาสตราจารย์ ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง (แม่ชีวิมุตติยา)

จากรูปที่เราได้เห็นทั้งหมดนี้ คงทำให้ผู้อ่านพอจะจำแนกได้ว่า ศักดินา-กิริยา เจ้านาย-ไพร่ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างโดยไม่ลำบากแต่อย่างใด
…..

#Thepoint #Newsthepoint

#ถ่ายรูปล้วงกระเป๋า #อานนท์ศักดิ์วรวิชญ์

Must Read

Related News

- Advertisement -