เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ตัวแทนผู้ประกอบการบริษัทยักษ์ใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เช่น บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอลอุตสาหกรรม จำกัด บจก. ซีโน่-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) บจก.ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) บจก.ดีพีโอ (ไทยแลนด์) บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้งส์ จำกัด บริษัท Fonterra บริษัทMars Wrigley และ Nestle (Thai) เดินทางเข้าพบหารือ นายเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายแพทย์ ณรงค์ อภิกุลวณิชเลขาธิการอ.ย.
โดยตัวแทนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ขอให้อ.ย.ทบทวนใน 5 ประเด็น เรื่องการพิจารณาการแสดงกรอบข้อมูลโภชนาการภาษาต่างประเทศตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามบัญชีหมายเลข 1 ท้ายประกาศกระทรวง สาธารณสุขฉบับที่ 445 ที่ยังมีความไม่คล่องตัวในทางปฏิบัติ โดยกรณีนี้อาจส่งผลทำให้ประเทศคู่ค้าประเทศอื่น ๆ มองและตีความไปว่า ประเทศไทยออกมาตรการดังกล่าวมาโดยมีเจตนากีดกันทางการค้าได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันของเอกชนไทยเองด้วย
ขณะที่ 5 ประเด็นจากตัวแทนผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบด้วย
- ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มการจัดทําฉลากร่วมสําหรับขายในหลายๆประเทศ(“ฉลากร่วม” หรือ SharedPackaging/multi-language) เพื่อลดการจัดทําฉลากแยกประเทศหรือใช้สติ๊กเกอร์โดย ไม่จำเป็นซึ่งนอกจากลดต้นทุนแล้วยังมีส่วนช่วยลดขยะอย่างเห็นได้ชัดอันเป็นนโยบายของประเทศต่างๆ 2.การจัดทําฉลากร่วมที่มีการวางจําหน่ายในหลายประเทศนั้นผู้ประกอบการจําเป็นต้องจัดทําฉลาก ร่วมนั้นๆให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศคู่ ค้าอื่นๆ ด้วยรายละเอียดของกรอบข้อมูลฉลากโภชนาการจึงแตกต่างกันไปไม่เหมือนรูปแบบที่กำหนดของประเทศไทย
นอกจากนี้ 3.โรงงานผลิตอาหารในประเทศจํานวนมากมีการผลิตเพื่อส่งออก หากสามารถจัดทํากรอบข้อมูล โภชนาการภาษาอื่นให้เป็นไปตามความต้องการของประเทศคู่ค้าได้ด้วยผู้ผลิตไทยย่อมได้เปรียบในการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและระบบการจัดการต่างๆในคลังสินค้า 4.ข้อมูลในกรอบโภชนาการภาษาต่างประเทศที่ต่างจากรูปแบบตามข้อกําหนดของประเทศไทย ยังคงเป็นข้อเท็จจริงของสินค้านั้นๆ ทางกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มได้รวบรวมรูปแบบกรอบข้อมูลโภชนาการตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งมีการจัดทำรูปแบบที่แตกต่าง จากประเทศไทยและตัวอย่างกรอบข้อมูลโภชนาการในฉลากร่วมที่วางจำหน่าย ในประเทศไทยและในต่างประเทศ และ5. การกําหนดให้ต้องขอความเห็นชอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)สําหรับกรอบข้อมูล โภชนาการภาษาต่างประเทศกรณีแยกกรอบทําให้เป็นการสร้างภาระให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการโดยไม่จําเป็น ตามเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ในการจำหน่ายสินค้าที่วางจำหน่ายในหลายประเทศ จะใช้ “ฉลากร่วม” หรือ ซองผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากโภชนาการของหลายประเทศที่วางจำหน่ายสินค้า เพื่อเป็นการลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งรูปแบบของฉลากโภชนาการและวิธีการคิดคำนวณสารอาหารในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาแต่ละประเทศจะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องเฉพาะฉลากโภชนาการในส่วนของประเทศตน โดยไม่พิจารณาประเทศอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้ซองผลิตภัณฑ์แต่ละสินค้ามีฉลากโภชนาการของหลายประเทศ และฉลากโภชนาการของแต่ละประเทศนั้นอาจมีรูปแบบหรือข้อมูลที่มีรายละเอียดแตกต่างกันได้ ซึ่งหากเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงก็สามารถวางจำหน่ายได้
ส่วนกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 445) พ.ศ. 2566 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 จะส่งผลให้สำนักงาน อ.ย. มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบฉลากโภชนาการของทุกประเทศให้สอดคล้องตามรูปแบบและวิธีการคิดคำนวณสารอาหารตามกฎหมายไทยตามที่ประกาศฉบับดังกล่าวกำหนด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติเพราะรูปแบบและวิธีการคิดคำนวณสารอาหารในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ และในทางปฏิบัติที่ผ่านมาก็ไม่มีประเทศใดดำเนินการในลักษณะที่จะตรวจสอบฉลากโภชนาการของประเทศอื่นให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศตนเอง
อย่างไรก็ตาม ในการหารือรองเลขาฯ อ.ย. กล่าวว่านโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญกับการให้ประเทศไทยเป็น kitchen of the world ครัวไทยเป็นครัวโลก กฎระเบียบต่างๆ จึงควรส่งเสริมเรื่องการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร ขณะเดียวกัน อย.ให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนเครดิต การลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งการใช้ฉลากร่วมสอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการค้าการส่งออก เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ โดยอ.ย.ทราบถึงปัญหาของผู้ประกอบการดี ซึ่งจะนำข้อมูลที่หารือร่วมกันนั้นนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการเพื่อหาทางออกต่อไป