รายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ผลจากกรณีการเกิดเหตุเพลิงไหม้สารเคมีของกลาง ของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 หลังศาลจังหวัดระยอง มีคำพิพากษาให้บริษัท วิน โพรเสส จำกัด และ นางสาววิชชุดา หรือใหม่ ไกรพงษ์ มีความผิดตามกฎหมายวัตถุอันตราย ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564
จนกระทั่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพิ้นที่เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา และตำหนินายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ว่าลงพื้นที่เกิดเหตุล่าช้า
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่านางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีกำหนดประชุมสัปดาห์หน้าย้ายนายจุลพงษ์ พ้นตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขี้น
โดยเบื้องต้นอาจย้ายไปนั่งรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสลับนายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มานั่งอธิบดีกรอ.แทน
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า กรณีของนายจุลพงษ์ที่ไม่ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง จากการตรวจสอบพบว่าวันที่ 22 เม.ย.นายจุลพงษ์ติดประชุม และอยู่ระหว่างจัดเตรียมชุดข้อมูลก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีกำหนดเดินทางระหว่างวันที่ 23 -25 เมษายน 2567 ร่วมกับนายวิจารย์ สิมาฉายาประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมอนามัย ผู้แทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อเจรจาหารือกับ Mr.Satoshi Yoshida Director for International Resource Circulation และ Mr.Kageyama Minako Duputy Director Industrial and Hazardous Waste Management Division , Environmental Regeneration and Material Cycles Bureau กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น (MOEJ) กำหนดแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 2 ประเทศ ในการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีแผนแม่บท ออกกฎหมายที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในกานเร่งแก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทยโดยเร็ว ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
“แม้นายจุลพงษ์ ไม่ได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่ทันทีที่เกิดเหตุได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ทันที ซึ่งกรณีของวิน โพรเสส เป็นคดีความมานานหลายปีก่อนศาลจะตัดสิน เท่าที่ทราบนายจุลพงษ์ได้ติดตามเร่งรัดการทำลายวัตถุอันตรายมาโดยตลอด แต่เรื่องนี้มีทั้งประเด็นกฎหมายในการดำเนินการผู้กระทำผิด งบประมาณจำกัด ทำให้กระบวนการล่าช้า ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้”