เมื่อวันที่ 24 ม.ค.67 นายถวิล เปลี่ยนศรี สว. ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงข่าวถึงการยื่นเรื่องขอให้อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณ์กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ว่าในกรณีของตนเองมีหลายศาล หลังจากมีคำสั่งโยกย้ายได้ร้องศาลปกครองเมื่อปี 2554 และศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ชนะคดีจนได้รับการคืนตำแหน่ง ต่อมา สว.ได้มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลมีคำวินิจฉัยให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ พร้อม ครม.ที่ลงมติ พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ต่อมาในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามมาตรา157 และส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกระทั่งศาลยกฟ้อง แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะตามกฏหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งตามกฏหมายผู้ที่จะสามารถยื่นอุทธรณ์คดีนี้ได้คืออัยการ และในขณะนี้ใกล้ครบกำหนด 30 วันคือวันที่ 26 ม.ค.นี้ ในการยื่นอุทธรณ์คดี
“ผมร้อนใจเพราะใกล้วันสิ้นสุดการยื่นอุทธรณ์ เมื่อกฎหมายเขียนเอาไว้ว่าสามารถไปให้ถึงที่สุดได้ ก็อยากให้เรื่องไปถึงที่สุด ไม่ได้หมายความว่าผมต้องการเอาชนะคะคาน หรือเจ็บแค้นอะไรต่างๆ ส่วนตัวไม่มี และเมื่อวานนี้ผมก็ได้ไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว และในความเห็นผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์และคณะ มีเจตนาพิเศษแน่นอน ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับญาติและพรรคพวกและมีเจตนาที่จะทำให้ผมเสียหาย แต่ว่าศาลยกฟ้อง ผมจึงเห็นว่าควรจะไปให้ถึงชั้นอุทธรณ์ ผมเหมือนนักมวยแม้ไม่ได้เป็นผู้ฟ้องเองแต่ก็เป็นผู้เสียหายในคดี เหมือนนักมวยที่เขาไปจัดชก อัยการก็เปรียบเหมือนโปรโมเตอร์ ที่จับผมไปชก ผมก็แพ้ในครั้งแรก ผมก็อยากจะแก้มือเพราะผมเป็นผู้เสียหาย เมื่อขอแก้มือเองไม่ได้ คนที่จะทำให้ผมแก้มือได้ในชั้นอุทธรณ์ ก็คืออัยการ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอัยการสูงสุดจะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่ปล่อยให้คดีนี้จบไปในชั้นต้นโดยที่ยังมีความสงสัยกันอยู่” นายถวิล กล่าว
นายถวิลกล่าวอีกว่า ในวันนี้(24 ม.ค.) จะไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ซึ่งเป็นต้นเรื่องที่จับเรื่องนี้มาไต่สวน ชี้มูลและนำมาสู่การฟ้องร้อง รวมถึงจะไปขอบคุณที่ได้นำเรื่องนี้ขึ้นมา และขอให้ประสานงานไปยัง อสส.เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อได้ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ก็อยากให้รักษากระบวนการยุติธรรม ในเมื่อยังไปไม่สุดทาง หากเลิกกลางคันก็จะเป็นที่เคลือบแคลง แต่ถ้าไปถึงที่สุดแล้วสุดท้ายตนเองจะแพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะต้องชนะให้ได้ อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ตั้งแต่พนักงานสอบสวนไปจนถึงราชทัณฑ์ บางทีมีอะไรที่ไม่ปกติเกิดขึ้นทุกวัน ก็อยากรักษากระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชน สร้างความเท่าเทียมความเสมอภาคให้เกิดขึ้น ไม่อยากให้เรื่องนี้มาเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้สำนักงานอัยการฯต้องมีมลทิน
เมื่อถามว่า ยังมีความหวังอยู่หรือไม่เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 วันก็จะครบกำหนดแล้ว นายถวิล กล่าวว่า ยังหวังว่า ถ้าเวลาจะหมด อัยการสูงสุดหรือ ป.ป.ช. ก็น่าจะไปขอขยายระยะเวลาเพื่อให้มีเวลามากขึ้น ในการดำเนินการเรื่องนี้ให้มันไปถึงที่สุดได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่าเรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุดเพียงแต่เป็นอำนาจของอัยการ ดังนั้นอัยการสูงสุดมีหน้าที่และอำนาจ ในการตรวจสอบและเหลือเวลาในการยื่นอุทธรณ์อีกไม่กี่วัน แต่ท่านยังไม่ดำเนินการใดๆ ก็ทำให้เห็นว่าความยุติธรรมล่าช้าคือความอยุติธรรม จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปยังอัยการสูงสุด อยากเห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ศาล อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ ซึ่งตอนนี้กำลังสั่นคลอนมาก สำหรับเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่มีความเสื่อมศรัทธา ไม่อยากเห็นองค์กรอัยการถูกกล่าวหาว่าไม่อุทธรณ์คดีเหมือนหลายคดีใหญ่ที่ผ่านมา เพราะองค์กรอัยการทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน เรื่องนี้ยังไม่ยุตติและสามารถใช้อำนาจหน้าที่ในกระบวนการอุทธรณ์ได้ จึงขอเรียกร้องช่วยให้ความอนุเคราะห์ทำหน้าที่ให้เต็มกำลัง ในการยื่นอุทธรณ์ ส่วนศาลจะตัดสินอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่พวกเรารับได้ แต่อย่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรมด้วยการไม่ยื่นอุทธรณ์คดี