เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ จากปิดตี 2 เป็น ตี 4 ในพื้นที่โซนนิ่ง ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาก เพราะนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจต้องไม่กระทบกับสุขภาพด้วย มาตรการดูแลอย่างน้อยต้องคงเดิม มากกว่าเดิม เข้มกว่าเดิม ดังนั้นจึงให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการรองรับ เราคงไม่คัดง้างหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาล แต่หน้าที่กระทรวงคือทำให้ช่วงเวลาที่ขยายออกไปนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อมิติสุขภาพ โดยมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีกฎกระทรวงออกมารองรับ ซึ่งคณะกรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดที่จะเสนอมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีหรือประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้
ทั้งนี้ ที่คณะกรรมการคุยกันว่าจะเสนอแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป คือ กำหนดให้ร้านค้า มีการตรวจวัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้มารับบริการก่อนออกจากร้าน หากมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน ก็ต้องไม่ให้มีการขับรถเอง ทางร้านต้องจัดบริการรถสาธารณะไปส่ง ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้ในสถานพยาบาล ก็ให้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ กับส่วนที่ใช้เป็นการทั่วไปก็ให้จัดเป็นเครื่องมือทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย จากเดิมที่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์อย่างเดียว นอกจากนี้ กฎหมายยังมีข้อกำหนดเรื่องการห้ามขายให้คนเมา ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องมาดูว่า จะแปลงมาควบคุมอย่างไร ให้รู้ว่าคนๆ นี้เข้าข่ายจะซื้อจะขายตามกฎหมายไม่ได้
“ให้ อย. แบ่ง และกำหนดให้เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจที่ใช้ในการตรวจวัดเป็นการทั่วไป ที่เป็นลักษณะการค้นหา ก็ให้เป็นเครื่องมือทั่วไป เพื่อให้ทุกคนสามารถพกติดตัว สามารถตรวจสอบตัวเองได้ หากทุกคนมีวินัยก็จะไม่มีผลต่อการขยายเวลาเปิดผับ บาร์” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีนายธนกฤต พานิชวิทย์ หรือว่าน นักร้องชื่อดัง ไลฟ์สดดื่มกิน ก่อนจะขับรถไปเกิดอุบัติเหตุชนพนักงานเก็บขยะ จะเป็นเหตุให้ต้องเสนอให้ผ่านให้ได้เรื่องการบังคับตรวจแอลกอฮอล์ก่อนออกจากร้าน และห้ามขับรถโดยเด็ดขาดหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเหตุผลชัดเจนเลย นับว่าเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เราต้องตระหนัก และเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่พึงมีกฎหมายควบคุมชัดเจนเลย นักร้องคนนี้ผิดกฎหมายหลายมาตรา ซึ่งในส่วนที่เขาไปกำกับดูแลก็ว่ากันไป เช่น การดื่มเมา แล้วขับก็ผิดอยู่แล้ว เป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบ ทำในสิ่งที่กฎหมายต้องห้ามไว้ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นผู้ดูแลบังคับใช้กฎหมาย ก็จะดูมาตรการป้องกันทั้งก่อน และหลังเกิดเหตุ
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงจะรณรงค์โดยใช้คำว่า “ดื่มไม่ขับ” ไม่ได้ใช้คำว่า “เมาไม่ขับ” ดังนั้นต่อไปต้องปรับมาตรการการรณรงค์หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เข้มเลย หมายความว่า คำว่าดื่มไม่ขับอาจจะน้อยไปแล้ว จากนี้ต้องตรวจวัดทุกครั้งถ้าดื่มในสถานบันเทิง ดังนั้นต้องทำให้เครื่องวัดหาง่าย สามารถพกพาได้ด้วยตนเอง รู้ตนเอง รู้เพื่อน รู้กลุ่ม ถ้าคุณอยากสนุก ต้องสนุกบนพื้นฐานความปลอดภัยต่อตนเอง และของคนอื่นด้วย
เมื่อถามต่อว่า มีข้อเสนอจากภาคประชาชนว่า เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบให้คนที่อยู่ในธรุกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีการตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแนวทาง เป็นวิธีคิดที่คล้ายกับการเก็บภาษีบาป ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารมึนเมา เพื่อนำเงินนี้มาใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดังนั้น ก็อาจจะมีแนวคิดอย่างนั้นได้ ต้องดูในรายละเอียดว่า สามารถจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วนำมาจัดตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อได้หรือไม่
เมื่อถามย้ำ จะเสนอเรื่องการตั้งกองทุนนี้เข้าไปพร้อมกันเลยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี ก็กำลังพิจารณา