เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็น กรณีสถาบันพระปกเกล้าเชิญนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาเป็นวิทยากรบรรยายหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 27 (ปปร. 27) ภายใต้หัวข้อ “การเมืองใหม่ในโลกปัจจุบัน” ว่า สถาบันพระปกเกล้า เป็นสถาบันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 7 ทรงก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย การเชิญนายธนาธรตนเข้าใจว่ามีเจตนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ประมวลจริยธรรมบุคลากรของสถาบันพระเกล้า ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 มีนาคม 2566 หมวด 2 ข้อ 4 กำหนดว่า บุคลากรทุกตำแหน่งต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และหมวด 3 ข้อ 5 กำหนดว่าบุคลากรของสถาบันต้องวางตนโดยไม่แสดงการต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือสนับสนุนให้นำาการปกครองในระบอบอื่นที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ในประเทศไทย และต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และไม่ละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระรัชทายาทไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา
นายประพฤติ กล่าวว่า สำหรับนายธนาธร ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีกล่าวพาดพิงสถาบันเบื้องสูงเกี่ยวกับ “วัคซีนพระราชทาน” ซึ่งขณะนี้อัยการดำเนินการสั่งฟ้องแล้ว และก็เป็นที่ทราบกันดีในสังคมว่านายธนาธรมีแนวคิดอย่างไรกับสถาบันเบื้องสูง โดยพิจารณาจากคำสัมภาษณ์และการกระทำที่แสดงออกต่อสาธารณะ โดยเฉพาะในการชุมนุมต่าง ๆ และหากทางสถาบันพระปกเกล้าจะอ้างว่าต้องการฟังความเห็นต่างก็สามารถมอบหมายให้ผู้เข้าอบรมศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองได้ทั้งจากเอกสารสิ่งพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ ซึ่งมีความเห็นของนายธนาธรปรากฎอยู่ทั่วไป ดังนั้นการที่ทางสถาบันพระปกเกล้าเชิญบุคคลที่มีโปรไฟล์เช่นนี้มาบรรยายจึงสมควรถูกตั้งคำถามว่าขัดต่อประมวลจริยธรรมข้างต้นหรือไม่ จึงอยากฝากนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้าดำเนินการเพื่อให้สังคมเกิดความกระจ่าง และสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง เพราะมิเช่นนั้นต่อไปทางสถาบันพระปกเกล้าหรือสถาบันการศึกษาอื่น ๆ
ก็อาจจะมีการเชิญบุคคลที่มีแนวความคิดเช่นเดียวกับนายธนาธรมาบรรยายมากขึ้นอีก ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยและส่งผลต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันการศึกษาเหล่านั้น