หน้าแรกสังคม'ชัชชาติ' โวย ไร้สาระ! ปัดเปลี่ยนรูปแบบก่อสร้างสะพานลาดกระบัง เร่งรื้อถอนภายใน 3 วัน เชื่อสาเหตุความผิดพลาดระหว่างก่อสร้าง

‘ชัชชาติ’ โวย ไร้สาระ! ปัดเปลี่ยนรูปแบบก่อสร้างสะพานลาดกระบัง เร่งรื้อถอนภายใน 3 วัน เชื่อสาเหตุความผิดพลาดระหว่างก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่สราชการกรุงเทพมหานครนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ร่วมแถลงกรณีคานโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง พังถล่ม ว่า เกิดเหตุเวลา 17.40 น. ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย และผู้บาดเจ็บอีก 12 ราย โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าว ผู้รับจ้างคือ กิจการร่วมค้าธาราวัญและนภาประมูลวงเงิน 1,664,550,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง 1,665,000,000 บาท เพียง 400,000 บาท โดยผู้รับเหมาดำเนินการ 2 ส่วน คือ ในส่วน launcher และ ในส่วนผู้รับเหมาดึงลวด

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ตัว Launcher สำหรับร้อยติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีต เซกเมนต์(Concrete Segment) ซึ่งเป็นพื้นทางของทางยกระดับเกิดพลิกตัวระหว่างดึงตอม่อเสาต้นที่ 83 และ 84 ทำให้พื้นทางที่อยู่ระหว่างการติดตั้งช่วงดังกล่าวไม่สมดุล จึงหลุดจากหัวเสาตอม่อถล่มลงมา แต่สาเหตุที่แท้จริงต้องตรวจสอบกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ขอเวลาตรวจสอบเบื้องลึกอีกครั้ง ขณะนี้ให้ผู้รับจ้างไปจัดทำแผนในการรื้อย้ายโครงสร้างดังกล่าว ซึ่ง กทม.จะร่วมกับ วสท.ประเมินแผนดังกล่าวเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ขณะเดียวกัน กทม.จะเร่งรัดรื้อย้ายโครงสร้างเพื่อเปิดการจราจรให้ได้ โดยตั้งเป้าไว้ภายใน 3 วัน

ทั้งนี้ เมื่อ 00.00 น. ที่ผ่านมา ได้มอบหมายงานให้สำนักปัองกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ปูพรมหาผู้ติดค้างด้านล่างอีกครั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนทำการรื้อย้าย พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักการโยธากำกับดูแลการรื้อถอน ผู้อำนวยการเขตลาดกระบังดูแลการจราจรในพื้นที่ สปภ.ดูแลหากเกิดเพลิงไหม้เพราะในที่เกิดเหตุใกล้ปั้มน้ำมันผู้อำนวยการ รพ.ลาดกระบัง และศูนย์เอราวัณดูแลผู้บาดเจ็บ

ส่วนวิธีการก่อสร้าง เป็นรูปแบบการประกวดราคา ใช้เป็นรูปแบบการหล่อในพื้นที่ แต่ว่า สนย.เปิดประกวดราคาไว้ว่าสามารถเสนอเป็นรูปแบบหล่อสำเร็จนอกพื้นที่ โดยในช่วงแรกผู้รับจ้างได้ทำการก่อสร้างเป็นรูปแบบหล่อในที่ แต่กระบวนการเป็นวิธีการที่เก่า และต้องมีการปิดพื้นที่ ซึ่งมีผลกระทบต่อการจราจร ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน ประกอบกับ การก่อสร้างมีความล่าช้า ดังนั้น ผู้รับจ้างจึงขอเปลี่ยนรูปแบบจากการหล่อในที่เป็นการหล่อสำเร็จพร้อมทำเรื่องขออนุญาตมาที่สนย.เมื่อเดือนกันยายน 2565 จากนั้น สนย.ได้ตรวจสอบพิจารณาอนุญาตแบบปลายเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ การหล่อในที่ไม่ดี เพราะต้องใช้พื้นที่และปิดการจราจรและใช้เวลา แต่การหล่อโรงงานจากภายนอกดีกว่าเพราะควบคุมคุณภาพการหล่อได้ และยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า เมื่อผู้รับเหมาดูแล้วระยะเวลาการก่อสร้างอาจไม่ทัน และโดนค่าปรับสูง จึงเปลี่ยนมาใช้การหล่อรูปแบบโรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นวิธีทั่วไปที่ทำมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และมีการดึงคอนกรีตขึ้นมาหลายสัปดาห์แล้วไม่มีปัญหา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดจากขั้นตอนการก่อสร้าง ไม่ใช่วิธีการก่อสร้าง

ส่วนความเสียหายผู้รับจ้างมีประกันตามสัญญาจ้าง ขณะที่ กทม.ดูแลตามระเบียบราชการ ทั้งนี้ ในหลวงทรงรับผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์คานสะพานถล่มเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบทุกโครงการก่อสร้างเพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดให้ประชาชน

ส่วนวิธีการนำเซกเมนท์จากโรงงานนอกสถานที่มาประกอบ ไม่ใช่โครงการนี้เป็นโครงการแรก เป็นวิธีการทำทั่วไปในส่วนสะพานข้ามแยก ณ ระนองก็ใช้วิธีเดียวกัน จึงเป็นที่ขั้นตอนการก่อสร้าง ไม่ใช่วิธีการ ส่วนผู้รับเหมามีประสบการณ์หรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนกับกรมบัญชีกลางและเป็นผู้รับเหมาชั้นดีขณะเดียวกัน สนย.ได้กำหนดคุณสมบัติของตัวผู้รับจ้างจะต้องมีผลงานโดยใช้วิธีการหล่อจากภายนอกมูลค่า 500 ล้านบาทต่อสัญญา อย่างไรก็ตาม จากนี้จะคัดเลือกผู้รับเหมาให้มีคุณภาพโดยจะหาทางเพิ่มมาตรการและกำหนดคุณสมบัติให้เข้มข้นขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวว่าทีมชัชชาติสั่งให้เปลี่ยนรูปแบบก่อสร้างจากการหล่อในพื้นที่เป็นการหล่อสำเร็จจากโรงงานภายนอกนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ รูปแบบดังกล่าวเป็นเรื่องขบวนการก่อสร้างปกติ ซึ่งผู้รับเหมามีการทำแล้วแต่ล่าช้า จึงขอเปลี่ยนวิธีก่อสร้างมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ยืนยันว่าไม่มีการไปสั่งเปลี่ยนอะไร

“การสื่อสารอะไรก็ขอให้ดูความถูกต้องด้วย เพราะเป็นฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จทางออนไลน์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังจะไปสร้างความสับสนให้กับสังคม ขอให้เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆที่ออกมาพูด ยืนยันว่าไม่ได้มีเรื่องพวกนี้ เป็นขั้นตอนกระบวนการทางวิศวกรรมและไม่มีใครสั่งให้มาทำเรื่องเสี่ยง” นายชัชชาติ กล่าว

สำหรับรายชื่อผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 จำนวน 5 คน คือ 1.นางสาวรัชนี นาคทรงแก้ว อายุ 46 ปี 2.นายธนดล คลังจินดา อายุ 47 ปี 3.นางสาวอุไรวรรณ วะเรืองรัมย์ อายุ 38 ปี 4.นายศุภชัย พวงยี่โถ อายุ 15 ปี 5.นายอรัญ สังข์รักษ์ อายุ 24 ปี ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 8 คน นำส่งโรงพยาบาลลาดกระบัง คือ 1.นายอารักษ์ กิ่งคำ2.นายณัฐพงษ์ มัคนุโก๊บ 3.นายพรรษา พวงยี่โถ 4.นายศรศักดิ์ เหมือนพร้อม 5.นายสุเทพ สุวรรณทาง 6.นายวิสิทธิ์แจ้งทา 7.นายทัศนัย ทัศนแสง 8.นางสาวมัจฉา เสียงสุข ขณะที่ผู้เสียชีวิต คือ นายอรัญ สังข์รักษ์ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 นายฉัตรชัย ประเสริฐ เสียชีวิตที่เกิดเหตุ

Thepoint #Newsthepoint #สะพานถล่ม #สะพานลาดกระบังถล่ม #ชัชชาติ

Must Read

Related News

- Advertisement -