ยังคงประเด็นปัญหามหากาพย์ที่ยังไม่จบง่ายๆ สำหรับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร เพดานสูงสุด 158 บาทตลอดสาย และปรับลดราคาลงเหลือ 104 บาท ต่อเที่ยว ในสถานการณ์โควิด-19 ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากคนกรุงเทพฯ
.
ล่าสุด ศูนย์สิทธิผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ 6 เขต มีความเคลื่อนไหวต่อแนวทางการการคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้ง โดยได้เข้าพบและยื่นหนังสือพร้อมหารือการคัดค้านประเด็นดังกล่าว ประกอบด้วย เขตบางกอกน้อย ยื่นหนังสือกับนายจักรพันธุ์ พรนิมิต สส.พรรคพลังประชารัฐ,เขตลาดกระบัง ยื่นหนังสือกับ ดร.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.พรรคเพื่อไทย,เขตบางนาและเขตพระโขนง ยื่นหนังสือกับนายสมเกียรติ ถนอมสิทธุ์ สส.พรรคก้าวไกล ,เขตหนองจอก เข้ายื่นหนังสือกับนายศิริพงษ์ รัสมี สส.พรรคพลังประชารัฐ,เขตบางบอน ยื่นหนังสือกับนายวัน อยู่บำรุง สส.พรรคเพื่อไทย
.
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตประเวศ และเขตสะพานสูง ได้เข้ายื่นหนังสือกับนายประสิทธิ์ มะหะหมัด สส. พรรคพลังประชารัฐ ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตคลองสามวา เข้ายื่นหนังสือกับนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.พรรคประชารัฐ โดยมีเลขาเป็นผู้รับหนังสือแทน
.
ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ชี้แจงว่า การชักชวนพรรคการเมืองในกรุงเทพมหานคร ร่วมคัดค้านการสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว และการขึ้นราคาค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมของกรุงเทพมหานครที่จะถูกนำเรื่องเข้าครม.เพื่อพิจารณาในเร็ววันนี้ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้รับความชัดเจนจากกรุงเทพมหานครที่จะแก้ไขเรื่องนี้ หรือมีทางออกอื่นอย่างไรนอกจากขยายสัมปทานให้เอกชนเพื่อปลดหนี้แสนล้านของกรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียว
.
จากแคมเปญผู้บริโภคกรุงเทพชวน สส. กทม และพรรคการเมืองร่วมค้านต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ศูนย์สิทธิผู้บริโภคทุกเขตร่วมเสนอความเห็นว่า หากจะต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า ต้องใช้ราคา 25 บาท เท่านั้น และหากไม่ต่อสัญญาสัมปทาน ขอให้ใช้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 44 บาท ตลอดสายตามสิทธิของบริษัทในสัญญาสัมปทานนับแต่ปัจจุบันถึงปี พ.ศ. 2572 โดยมีการจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท ทั้งสัมปทานเดิมส่วนต่อขยายเดิมและส่วนต่อขยายใหม่ เพื่อยึดหลักการเข้าถึงและคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนและภาระเกินสมควรของผู้บริโภค
.
ทั้งนี้ ศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตกรุงเทพมหานครจะมีการส่งต่อการยื่นจดหมายไปยังศูนย์สิทธิอื่นๆ และศูนย์สิทธิต่างจังหวัด เพื่อเชิญชวนพรรคการเมืองร่วมคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการขึ้นราคาค่าโดยสารไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคต่อไป
.
จัดหนัก!ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ปลุกคนกรุงยกระดับค้านสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว ต้านขึ้นราคาค่าโดยสารแพงหูฉี่ ชวนส.ส.เขตร่วมผนึกกำลัง ลั่นต้อง 25 บาทตลอดสายเท่านั้น
- Advertisement -