วันนี้(16 ธ.ค.) “บอม-โอฬาร วีระนนท์” กรรมการบริหารพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ องค์ภา เจ้าฟ้าที่มีความห่วงใย ใส่ใจทุกผู้คน” จะมีใครสักกี่คน รู้จักและเคยไป บ้านไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พื้นที่ที่ “องค์ภา” ทรงใส่ใจพัฒนา ตามพระราชดำริของ ร.9 และ ร.10
.
เมื่อราว 2-3 ปีก่อน ผมเคยมีโอกาสลงไปสำรวจ พื้นที่โรงเรียนกองม่องทะ สาขาบ้านไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ในวันที่ 6-7 มีนาคม 2563 ในฐานะทีมงาน ของพี่สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.กระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น ด้วยได้รับมอบหมายจากพี่สนว่า พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ห่างไกล ต้องเข้าไปในป่า อยู่ห่างจากตัวเมืองกว่า 20 กม. และยังมีไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ
หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชระราชธิดา(องค์ภา) ให้ความสำคัญในการพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี สืบทอดพระราชปณิธานที่ทางพระราชบิดา (รัชกาลที่ 10) ต้องการ สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เรื่องการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เขตชายแดนที่ความเจริญเข้าไม่ถึง และประชาชนลำบากในการดำรงชีวิต
.
ซึ่งชุมชนที่เริ่มต้นในการดำเนินการ คือ ชุมชนบ้านสาละวะ และชุมชนบ้านไล่โว่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายแดนพม่า มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง และเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนที่จะมีการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลก เป็นชุมชนที่มีการอนุรักษ์ป่า และจิตวิญญาณ รวมทั้งรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากได้รับการบูรณาการร่วมพัฒนาระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชน จะช่วยทำให้ได้รับการพัฒนาอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ในส่วนของกระทรวงพลังงานในสมัยนั้น เราทราบดีว่าหลายพื้นที่ในประเทศไทยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นที่มาของโครงการพัฒนาพื้นที่ที่ไม่มีพลังงานไฟฟ้าใช้ โดยกระทรวงพลังงาน และมีพื้นที่บ้านไล่โว่เป็นพื้นที่หนึ่งที่เราลงไปติดตามการดำเนินการ
.
“หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา ที่แค่เรานั่งรถเข้าไปยังยากเย็น แต่พระองค์ทรงเดินเท้า และวิ่งไปด้วย หัวใจพัฒนา”เส้นทางในการเดินทางไปบ้านไร่โว่นั้นไม่ธรรมดาครับ ด้วยเป็น “ทางฝุ่น” และ “ทางเลน” ขนาดผมที่ขับรถส้มจุกคู่ใจ ไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ขึ้นเหนือสุดลงใต้มากว่า 200,000 กม. ลุยปลูกป่ามานักต่อนัก ไปเจอถนนเช่นนี้ ยังต้องจอดพักที่เขตบ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยาน และเปลี่ยนไปขึ้นรถ 4WD แบบสมบุกสมบันของเจ้าหน้าที่ นั่งหัวสั่นหัวคลอน ผ่านสารพัดเนินดิน ฝุ่น เลนอย่างที่ต้องบอกว่า นั่งรถยังเหนื่อย แต่พอไปถึงกลับเห็นสภาพโรงเรียน ที่ได้รับการจัดการอย่างดี กลมกลืนกลับสภาพแวดล้อม เด็กๆ ในชุมชน ต่างเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข
.
“องค์ภา ทรงเดินเข้ามา ไม่ใช้รถใดๆ เพื่อให้เห็นว่า ตรงไหน ต้องสร้างถนน สร้างสะพาน และอะไรบ้างให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดี” ระยะทางนับสิบกิโลเมตร ที่นั่งรถสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก เข้ามาก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมง ผมมีโอกาสคุยกับทั้งเจ้าหน้าที่ ที่นั่งคู่กันมา สอบถามความเป็นไปในการพัฒนา และคุยกับครูในชุมชน ที่เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนลำบากกว่านี้มาก” เรารู้มั๊ยว่า ที่เรานั่งรถกันมาว่าลุยๆ ยากๆ นี่ พระองค์เดินเข้ามา กับสุนัขทรงเลี้ยงของพระองค์ บางช่วงวิ่ง กึ่งเดิน จนเอาเจ้าหน้าที่อย่างพวกผมวิ่งตามกันไม่ทัน เพราะพระองค์อยากเห็นพื้นที่ในแต่ละส่วนจริงๆ ว่าจุดไหน ต้องทำถนน ทำสะพาน ต้องพัฒนาอย่างไรให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ
.
“องค์ภา เจ้าฟ้าที่ปิดทองหลังพระ หลานที่เดินตามรอยคุณปู่ ตามปณิธานของคุณพ่อที่ตั้งไว้” สิ่งที่ผมได้เห็นด้วยตา สัมผัสด้วยหัวใจ คือ การใส่ใจในการพัฒนาพื้นที่ การลงรายละเอียด ทั้งการตัดถนน กำหนดจุดสร้างสะพาน ผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดพลังงานไฟฟ้า ที่เมื่อระยะยากที่จะเดินเข้าไปด้วยสายไฟ ก็ใช้ความเข้าใจด้าน Technology นำไฟจากฟ้า Solar Cell ให้เข้าไปถึงชุมชน
.
ได้เห็นการให้ความรู้แก่คนในพื้นที่ การสร้างแหล่งเก็บน้ำ พัฒนาดิน พัฒนาน้ำ พัฒนาให้มนุษย์อยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ชุมชน ทั้งการสร้างงาน สร้างอาชีพ ผ่านกลุ่มทอผ้าบ้านสาละวะ การปลูกไม้ยืนต้นเช่นอโวคาโด การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกผัก และสำคัญที่สุดคือการส่งเสริมการศึกษาให้เยาวชนและชุมชนสามารถพัฒนา ดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน
.
สิ่งเหล่านี้ คือ ตัวอย่างสิ่งที่ “องค์ภา” ทรงทำ
ทำโดยน้อยคนนักที่จะได้รู้ ทำโดยไม่ต้องตีฆ้องร้องป่าวบอกใครๆ แต่มันค่อยๆ ซึมลึกลงไปที่หัวใจของคนได้สัมผัส
.
ในฐานะรุ่นน้องธรรมศาสตร์ ที่องค์ภา เข้ามาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ เราเข้ามาเป็นน้องใหม่คณะเศรษฐศาสตร์ รหัส 42 ช้ากว่าองค์ภา 2 ปี เราได้รับฟังข่าวคราวของพระองค์มากมาย ทั้งในมุมจริยวัตรที่งดงาม อ่อนน้อม แต่เป็นตัวของตนเอง และข่าวลือที่แตกต่างกันไป ทรงเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยในแทบทุกมิติ ทั้งงานบอลประเพณีฯ เป็นผู้อัญเชิญธรรมจักร เป็นนักกีฬา เป็นนักแสดงในขบวนพาเหรดงานบอลประเพณีฯ และอื่นๆ อีกมากมาย
.
เมื่อลองคิดถึง “องค์ภา” ในฐานะรุ่นพี่ ในฐานะบุคคลธรรมดา ที่หาใช่เชื้อพระวงศ์ใดๆ สิ่งที่พระองค์ทำ คือตัวอย่างที่ดียิ่งในการใช้ความรู้ ความสามารถ เครือข่ายและทรัพยากรที่ตนมี ในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคม และผืนแผ่นดินไทยนี้ ดังที่ครอบครัวของพระองค์ทำเสมอมา และสมดังคำที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวงของปวงชนชาวไทย คุณทวดขององค์ภาทรงตรัสไว้ว่า“เกียรติยศไม่ได้มาด้วยชาติกำเนิด แต่เกิดจากการกระทำ” Not noble by birth, yet noble by deeds.
.
“องค์ภา” ทรงเป็นตัวอย่างของคำสอนของสมเด็จย่าให้เห็นตลอดมาจริงๆ ขอพระองค์ทรงพระพระเจริญ และทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน
.
ปล.ใครอยากดูข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งของโครงการที่ “องค์ภา” ทรงทำ เข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่
มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
http://phubodin.kanchanaburi.go.th/about.html#about
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
https://www.friendsofpa.or.th/TH/about.html#history
งานที่เราได้มีโอกาส ลงพื้นที่บ้านไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
https://youtu.be/zlhBigZ7KoE
.