จากกรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา ภายใต้หัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” เมื่อวานนี้ ( 3 ธ.ค.67) ระบุเกี่ยวกับการศึกษาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15 % เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จนเกิดกระแสวิจารณ์เป็นวงกว้าง
ล่าสุด ในช่วงกลางดึกวันเดียวกัน นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้โพสต์ ตั้งคำถามกับแนวทางดังกล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 15% ดังกล่าว อาจทำให้ประชาชนทั่วไป ที่มีรายได้ 30,000 บาท จากเดิมเสียภาษีจริงแค่ 1 % ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 14% เมื่อไม่จัดเก็บแบบขั้นบันได ผู้ที่มีรายได้มาก ย่อมเสียภาษีน้อยลง จึงตั้งคำถามว่าแนวทางดังกล่าว เป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร และ เห็นว่ากระทรวงการคลังควรกลับไปศึกษาเรื่องนี้ให้ดี ใจความสำคัญของโพสต์ส่วนหนึ่ง มีดังนี้
“จริงๆ ก็ว่าจะยังไม่พูดเพราะเค้าบอกว่าแค่จะไปศึกษา แต่ดันโยนอัตราภาษีมาขนาดนี้ก่อนจะศึกษาเสร็จก็ต้องขอพูดหน่อย
เอาแค่ข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะปรับเป็น 15% flat rate ไม่มีขั้นบันได ยกเลิกลดหย่อนทั้งหมด ฟังดูเหมือนจะดี
แต่มาดูว่าทุกวันนี้เราเสียภาษีกันจริงๆ (effective tax rate) เท่าไหร่ โดยเอาภาษีเงินได้ที่เราจ่ายหารด้วยรายได้ก่อนหักลดหย่อน พบว่า
ทุกวันนี้ ถ้าคุณเงินเดือนถึง 300,000 บาท 3.6 ล้านต่อปี น่าจะเสียภาษีจริงๆ หลังลดหย่อนทุกอย่างแล้ว ประมาณ 530,000 หรือ คิดเป็นประมาณ 15% ของรายได้ของคุณ แต่ถ้าคุณเงินเดือน 30,000 บาท คุณเสียภาษีจริงๆ ราว 1% ของรายได้ เงินเดือนส.ส. 113,780 บาทต่อเดือน เสียภาษีจริงๆ อยู่ 8-12% เท่านั้น
ภายใต้นโยบายใหม่นี้ เท่ากับว่าคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 300,000 บาททุกคนต้องจ่ายภาษีเพิ่มถ้าปรับลดอัตราลงเป็น 15%! ส่วนคนที่เงินเดือนเกินได้ลดภาษี ยังจะกล้าพูดหรอว่านี่จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ
ยังไม่ต้องพูดถึงว่าลดแล้วรายได้เข้ารัฐจะพอมั้ย ยังไม่ต้องพูดถึงว่า vat ขึ้นแล้วจะก้าวหน้าหรือถดถอย เรื่อง Global minimum income tax เค้าไม่ให้ลดต่ำกว่านี้ ไม่ได้บอกว่าห้ามเก็บเกิน ไปศึกษาให้ดีๆ ให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาพูดดีกว่าค่ะ”
…..
#Thepoint #Newsthepoint
#ศิริกัญญาตันสกุล #ขึ้นภาษี15% #เพื่อไทย #รัฐบาลเพื่อไทย