นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (12 ตุลาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
.
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมว่า ทุกคนทราบดีแล้วว่ามีสถานการณ์ความรุนแรงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นรัฐบาลรวมทั้งคนไทยทั้งประเทศมีความห่วงกังวลในเรื่องของการป้องกันและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืน และยาเสพติด ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหายทั้งระบบ
.
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการประชุมหารือกันในขั้นต้น ในการกำหนดมาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว และมีผลเป็นรูปธรรมในการที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยได้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือข้อเสนอเรื่องอาวุธปืนโดยกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อเสนอจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข การแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพจิต ที่ต้องบูรณาการกันอย่างรัดกุม ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ จึงเห็นว่าต้องมีมาตรการเพิ่มเติมมากขึ้น จากโครงสร้างกลไกการป้องกันเดิมที่มีอยู่แล้ว
.
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า วันนี้ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการใหญ่ขึ้นอีกหนึ่งคณะ เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของทุกคณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อมากำกับดูแลหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบายและจังหวัดต่าง ๆ รวมไปถึงศูนย์ระดับกระทรวง กรมและพื้นที่บริการพิเศษ เขตและอำเภอหมู่บ้านและชุมชน ดังนั้น เป้าหมายในวันนี้คือ หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีผลเป็นรูปธรรม เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
.
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า โดยต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งต้องทำงานอย่างบูรณาการและรัดกุม
.
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้ยาเสพติดกับการใช้อาวุธที่จะดำเนินการในหลายมิติ โดยเฉพาะมาตรการเรื่องการป้องกันป้องปรามในสถานที่ต่า ๆ การปราบปรามโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย กวาดล้างทั้งยาเสพติดและการใช้อาวุธต่าง ๆ ความเข้มข้นในการตรวจสอบการใช้อาวุธ การพกพาอาวุธ การบำบัดรักษา สถานที่บำบัดรักษาของรัฐ และศูนย์บำบัดรักษาต่าง ๆ ของส่วนท้องถิ่นให้มีเพียงพอได้คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งต้องค้นหาคนที่ติดยาเสพติดเพื่อนำมาสู่การบำบัดรักษา ซึ่งจะต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการอย่างเข้มงวด และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไปโดยเร็วที่สุด
.
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด ประกอบด้วย
- มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน
1.1 กวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน และกระสุนปืนอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา
1.2 ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่าไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน/สำหรับในส่วนความประพฤติหรือพฤติกรรมต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
1.3 เพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม การใช้ยาเสพติด และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
1.4 กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง
1.5 ทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้มีความทันสมัย
- มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2.1 ควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด “โซเดียมไซยาไนต์”
2.2 เร่งติดตาม สืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน
2.3 บูรณาการนำผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส.
2.4 ทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นปริมาณการครอบครอง เพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู
2.5 สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
- มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
3.1 ค้นหา คัดกรองผู้ป่วย SMIV เข้าสู่สถานฟื้นฟูฯ ภาคีเครือข่าย
3.2 เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล ทั้ง สธ.และ อปท. และสถานบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานสากล
3.3 บูรณาการการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment) ให้ครอบคลุมทุกตำบล
3.4 พัฒนาพฤตินิสัย ร่วมกับการบำบัดฟื้นฟู โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อความรุนแรง หรือเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง และใช้กำไล EM เพื่อการติดตามดูแล - การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
4.1 จัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตใน โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง / สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน / หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง
4.2 ทำการบำบัดฟื้นฟูทันที โดยจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ จัดตั้งหน่วยบูรณาการ จิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอ ระบบดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
4.3 ใช้ชุมชนบำบัด เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาจิตเวชทางไกล การดูแลต่อเนื่องในชุมชนในผู้ป่วยจิตเวชเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง
.