กรณีดรามา ละครแม่หยัว วางยาสลบแมวดำ เพื่อเข้าฉากในละคร จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นกรมปศุสัตว์ สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง กระทั่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาแล้ว โดยแมวชื่อว่า “สำลี” เป็นแมวเพศผู้ อายุ 4 ปี น้ำหนัก 6.5 กิโลกรัม
โดยวานนี้ (19 พ.ย.2567) นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงผ่าน Press Release ระบุว่า จากการที่ได้สั่งการให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ และสำนักกฎหมาย ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าละครเรื่องแม่หยัว มีฉากวางยาแมวทำให้แมวแสดงอาการเหมือนถูกวางยาพิษว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยกรมปศุสัตว์ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับละครดังกล่าวมาเพื่อให้ถ้อยคำและนำแมวที่แสดงมาตรวจร่างกาย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
จากการตรวจสอบคุณลักษณะของแมวที่นำมา ด้วยเทคนิค AI และ Deep Learning โดยได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท โลจิเซ็นส์ จำกัด และสมาคมเมกเกอร์ ประเทศไทย พบว่า ลักษณะโครงหน้ารูปร่าง ขา ความสูง หรืออัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเทียบเคียงกันในแต่ละเฟรมหรือแต่ละรูปเหมือนกันถึง 80% จึงน่าเชื่อได้ว่าแมวที่นำมาให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวเดียวกับแมวที่แสดงในละคร และผลการตรวจร่างกาย พบว่าแมวมีสุขภาพปกติ การตรวจด้วยรังสีเอกซ์ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องอกและช่องท้อง การตรวจผิวหนังไม่พบบาดแผลใดๆ ผลการการตรวจโลหิตไม่พบความผิดปกติของเม็ดเลือด และการทำงานของตับและไต แต่อย่างใด
สำหรับการสอบข้อเท็จจริง พบว่า เจ้าของแมวซึ่งเป็นผู้รับจ้างจัดหาแมวที่มาแสดงในฉากแมวสีดำแสดงอาการเหมือน ถูกวางยาพิษในละครดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ให้ถ้อยคำว่า ตนไม่มีใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์แต่มีประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์มานาน เป็นผู้ฉีดยาระงับประสาทชนิดเดียวกับที่สัตวแพทย์ใช้สำหรับการเตรียมตัวสัตว์ก่อนการวางยาสลบสัตว์ ให้แก่แมวด้วยตนเอง โดยได้รับค่าจ้างการทีมงานละคร
ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ได้คุยกับนายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ ตุนาค ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม เริ่มจากประเด็นการตรวจสอบเป็นแมวตัวเดียวกันหรือไม่ ว่า การตรวจสอยอัตลักษณ์ของแมว ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการตรวจสอบโดยการใช้ AI ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เทคนิค ใช้ฟุตเทจแมวรวม 4,000 รูป ดังนี้
1. Deep Learning with Image Data ใช้การเรียนรู้เชิงลึกเพื่อจำแนกลักษณะเฉพาะของแมวแต่ละตัว เช่น สีขน รูปร่าง ใบหน้าและลักษณะเฉพาะที่ต่างกันในแต่ละตัว
2. Multi-Angle Image Collection เป็นรวบรวมภาพของแมวจากหลายมุมเพื่อให้ AI มีข้อมูลที่เพียงพอในการสร้างแบบจำลอง ซึ่งช่วยให้การตรวจสอบแมวมีความแม่นยำแม้จะอยู่ในมุมมองที่แต่กต่างกัน
3.Convolutional Neural Networks (CNN)ใช้ในการวิเคราะห์ภาพ และดึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของแมวแต่ละตัว ซึ่งโมเดล CNN ช่วยแยกแยะ และสร้างแบบจำลองของแมวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปได้ว่าเป็นแมวตัวเดียวกัน 80% เพราะในเรื่องของเทคโนโลยีคงถึงขั้น 100% ซึ่งส่วนตัวมองว่านี่อาจเป็นวิธีการใหม่สำหรับคนไทยจึงอาจมีคำถามตามมาว่าเป็นแมวตัวเดียวกัน ส่วนแมวน้องสำลีตอนนี้กลับไปอยู่กับเจ้าของซึ่งเป็นโมเดลลิ่งแล้วอยู่ที่บ้าน ไม่ได้มีปัญหาอะไร และคิดว่าจากบทเรียนครั้งนี้ ทำให้โมเดลลิ่งคนดังกล่าว คงเกิดการเรียนรู้และคงไม่ทำการทารุณกรรมสัตว์แบบนี้อีก
นอกจากนี้ นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าให้ถ้อยคำของช่องดังกล่าวและโมเดลลิ่งว่า ในส่วนของโมเดลลิ่ง (ชาย วัย 70 ปี) ก็ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่ให้ยาซึม หรือ ยาเตรียมสลบกับสัตว์ ซึ่งอ้างว่าได้มีการปรึกษาเพื่อนที่เป็นสัตวแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบในเชิงลึกลึกต่อไป โดยการให้ยาซึมดังกล่าวนี้ เพื่อต้องการให้สัตว์ซึมหรือแสดงอาการตามต้องการ
ขณะเดียวกันยาในกลุ่มนี้ เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท บุคคลที่ครอบครองได้ควรเป็นสัตวแพทย์ แต่ไม่แน่ใจว่าในปัจจุบันมีการเล็ดลอดออกไปได้หรือไม่ แต่คนที่อนุญาตให้ใช้เป็นกลุ่มสัตวแพทย์เท่านั้น
เมื่อถามว่าโมเดลลิ่งได้บอกหรือไม่ว่าได้ยามาได้อย่างไร นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ บอกว่า เรื่องนี้ขอให้อยู่ในสำนวนที่ต้องส่งให้พนักงานสอบสวน และเกรงว่าจะส่งผลต่อรูปคดี
เมื่อถามย้ำถึงกรณีที่อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ สรุปแล้วเป็นผู้เชี่ยวชาญแบบใด นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ กล่าวว่า ตามที่ทางกองถ่ายละครอ้างว่ามีผู้เชี่ยวชาญหมายถึงโมเดลลิ่งคนดังกล่าว แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนำสัตว์มาแสดง แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่สัตวแพทย์ที่มีสิทธิ์ในการใช้ยากลุ่มนี้แต่อย่างใด แต่หากพูดถึงเรื่องการฝึกสัตว์เพื่อการแสดง ก็ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะมีสัตว์ในครอบครองเกือบ 1,000 ตัวเพื่อใช้ในการแสดง ทั้งสัตว์ปีก สุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ ฯลฯ
เมื่อถามอีกว่า ทางโมเดลลิ่งเองให้ถ้อยคำสอดคล้องกับช่องดังกล่าวหรือไม่ นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ กล่าวว่า ทางผู้จัดหรือผู้กำกับเอง มีประเด็นในส่วนที่ว่า ผู้กำกับเองต้องการภาพหรือต้องการฉากที่แมวสลบ แต่ทางผู้กำกับอ้างว่าไม่ได้มีความรู้ในด้านการวางยาสลบ เพียงแต่ต้องการภาพ เพื่อใช้การแสดงเท่านั้นเอง ซึ่งโมเดลลิ่งก็บอกว่าสามารถทำได้ จากนั้นโมเดลลิ่งจึงจัดการให้ยาแมวและได้ภาพ
“แต่ว่าในลักษณะของภาพที่แมวแสดงอาการกระตุก ที่คนทั่วไปเรียกว่ากระตุก แต่ในทางสัตวแพทย์ ลักษณะดังกล่าวคือการที่แมวขย้อน อาเจียน ซึ่งมีผลมาจากฤทธิ์ของยาตัวนี้ ซึ่งเราก็ไม่ทราบจริงๆว่าผู้กำกับต้องการภาพๆนั้นหรือเปล่า หรือต้องการให้แมวสลบไป แต่จากการให้ข้อมูลผู้กำกับต้องการภาพเป็นแนวที่กินยาแล้วนอนสลบไป แต่ผลของการให้ยาทำให้เกิดภาพที่แมวขย้อนออกมา แล้วทำให้เราเข้าใจผิดเข้าใจผิดว่าแมวกำลังชักหรือกำลังตาย ทำให้สังคมมองในจุดนี้ แต่ความจริงเป็นภาวะปกติในการให้ยาหากทำโดยสัตวแพทย์” นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ กล่าว
ส่วนประเด็นข้อสงสัยว่าแมวตายจริงหรือไม่ จากการดูที่ฟุตเทจ ดูการหายใจจากการกระเพื่อมของช่องอก พบว่า ขณะที่แมวสลบ ยังมีชีวิตอยู่ เพราะยังมีการกระเพื่อมของช่องอก
นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้คิดว่าโมเดลลิ่งยังคงสามารถพาสัตว์ไปแสดงได้ เพราะกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ต้องการการทารุณกรรมฯ พ.ศ.2557 ยังไม่ได้ระบุในเรื่องของการนำสัตว์ไปแสดง ดังนั้นทุกคนยังคงสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมวหรือสัตว์อื่นๆ เพียงแต่ว่าต้องมีการจัดสวัสดิภาพที่ดี ถูกต้อง และสำคัญคือ ต้องไม่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ หรือทำให้สัตว์หวาดกลัวแต่รับบาดเจ็บ หิวกระหาย หรือสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น การวางยาซึมหรือยาสลบ เพราะที่มันเป็นประเด็นเรื่องนี้ ก่อนวางยามันต้องมีการตรวจเลือดก่อน อีกทั้งยาชนิดนี้มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทสามารถทำให้สัตว์ตายได้ ยาดังกล่าวจึงเป็นยาอันตรายที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์และมีความรู้ในการใช้ยา
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะได้มอบหมายให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับ เจ้าของแมวและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 20 และไม่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนอย่างเหมาะสม ตามมาตรา 22 ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท้องที่ที่พบกระทำความผิดดังกล่าว ต่อไป
นายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ กล่าวว่า เบื้องต้นคงมีการเอาผิดโมเดลลิ่งก่อน 2 ข้อหา ที่กล่าวไป และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพ ทางสัตวแพทย์ซึ่งไม่อนุญาตให้ใครก็ตามฉีดยาสลบให้กับสัตว์ของตัวเองเพื่อรับสินจ้างรางวัล ความผิดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสัตวแพทย์สภาฯ
พร้อมกันนี้ขอมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ทุกคนตื่นตัว ทั้งวงการแสดง วงการสัตวแพทย์ รวมทั้งประชาชนได้เห็นกรณีดังกล่าวและตื่นตัวในเรื่องดูแลสุขภาพของสัตว์ให้มันดีขึ้น และจากนี้คิดว่าคงไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงอีกต่อไป
…………..
#Thepoint #Newsthepoint
#วางยาแมว #แมวดำ #วางยาสลบแมว #แม่หยัว #แบนแม่หยัว