เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า (ep.2) เหตุใดคดีที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่ถูกนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในพุธที่ 31 ม.ค. 2567 นี้ จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิด หรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้น
ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ถึง 2 ครั้ง แต่ถูกประธานสภาฯ สั่งไม่ให้บรรจุวาระด้วยขัดรัฐธรรมนูญ ยังถูกขับเคลื่อนต่อในนโยบายพรรคและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
โดยหากพิจารณาในเนื้อหาที่ยกร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ยิ่งชัดเจนในการลดมาตรการในกฎหมายคุ้มครองพระประมุข ในเกือบทุกมาตราลงจนอาจต่ำกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปด้วยซ้ำ
สอดรับควบคู่กับการเคลื่อนไหวต่างๆ ขององค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว รวมถึงการอภิปรายในเวทีต่างๆ การใช้สิทธิ สส. ประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ฯลฯ
ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ที่สั่งการให้ผู้ถูกร้องและองค์กรเครือข่ายหยุดการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป
การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 นี้ อาจเป็นพยานหลักฐานอีกชิ้นสำคัญที่ถูกยื่นไต่สวนในศาลรัฐธรรมนูญ และมีน้ำหนักที่อาจทำให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล มีความสุ่มเสี่ยงในคดีเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสมชาย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ep.1เหตุใดคดีที่พิธาและพรรคก้าวไกลที่ถูกนายธีรยุทธร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยในพุธที่ 31 ม.ค. 2567 จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกวินิจฉัยให้มีความผิด หรือให้ยุติการกระทำตามคำร้อง และอาจนำไปสู่การร้องดำเนินคดีที่หนักขึ้นในก้าวต่อไป ดังนี้
1)คำร้องประกอบหลักฐานนั้นค่อนข้างแน่นหนา ในการชี้ให้เห็นถึงการกระทำต่างๆต่อเนื่องหลังที่ศสาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 สั่งห้ามการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่ยังปรากฎการเคลื่อนไหวขององค์กรเครือข่ายต่อเนื่อง อาทิ การกำหนดเรื่องการแก้ไขมาตรา112 เป็นนโยบายพรรค การเดินสายในเวทีหาเสียงต่างกรรมต่างวาระ การพูดอภิปรายในรัฐสภา การให้สัมภาษณ์สื่อไทยและต่างประเทศ มีการเคลื่อนไหวต่างๆที่อาจถูกชี้ให้เห็นว่ามีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการในหลายกรณี ที่ชัดเจนต่อสถาบัน ทั้งการเสนอร่างแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ที่เป็นกฎหมายความมั่นคงคุ้มครองพระประมุข
2)คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่19/2564 ระบุถึงพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทําของผู้ถูกร้องแสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องเป็นการแสดงความคิดเห็น โดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดข้ึนต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ด้วย แต่ยังปรากฎการกระทำดังกล่าวโดยกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองต่อเนื่องเรื่อยมา