ภายหลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง วาระ 2-3 ในประเด็นสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 และ 500 ในมาตรา 23 โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติโหวต เห็นด้วยให้คงร่างเดิม กมธ.ที่ใช้สูตรหาร 100 ด้วยคะแนน 160 เสียง ไม่เห็นด้วย 392 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 577 คน
.
ล่าสุด นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า หาร 500 ใครได้ประโยชน์ สูตรการคำนวณ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP. ได้รับความเห็นชอบในวาระที่สอง ของการประชุมร่วมของรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียง 354 ต่อ 162 งดออกเสียง 37 และไม่ลงคะแนน 4 เสียง
- ภายใต้ระบบนี้ พรรคที่ชนะในระบบเขตมาก จะได้ บัญชีรายชื่อน้อยลง ส่วนพรรคที่แพ้เลือกตั้งในระบบเขต หากมีคะแนนนิยมในบัตรใบที่สองมาก จะได้รับการจัดสรร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อมาก
- พรรคก้าวไกล อาจเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้มากที่สุด โดยอาจมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ถึง 30 คน
- พรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะได้บัญชีรายชื่อน้อยลง แต่จะไม่ถึงขนาดเป็นศูนย์ เพราะคราวก่อนเป็นระบบบัตรใบเดียว และพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนเขตทั้งหมด หากคราวนี้ส่งลงครบ 400 เขต น่าจะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้จำนวนหนึ่ง
- พรรคจิ๋ว อย่าเพิ่งคิดว่าจะได้อานิสงค์จากระบบนี้ เนื่องจากเค้กก้อนเล็กลง ดังนั้นแม้คะแนนเฉลี่ยเบื้องต้นคือ ประมาณ 70,000 คะแนน แต่การคำนวณ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากทุกพรรคในรอบแรก จะเกินจำนวน 100 คน ดังนั้นต้องใช้บัญญัติไตรยางศ์ เพื่อปรับให้ลงมาเป็นร้อยคน คะแนนต่ำสุดจึงอาจสูงขึ้น โดยอาจต้องมี คะแนนเสียง 100,000 เสียงจึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
- พรรครัฐบาล มีเวลาเหลืออีกราว 6-8 เดือน ในการสร้างคะแนนนิยมให้สูงขึ้น หากคะแนนนิยมดีขึ้นกลายเป็นพรรคใหญ่ อย่าหาเรื่องกลับไปสูตรหาร 100 อีกล่ะ คุณลุง
.