นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า เขตสวนหลวง-ประเวศ โพสต์ข้อความในหัว”Kamikatsu ต้นแบบเมืองไร้ขยะ แยกขยะได้ถึง 45 ประเภท” โดยระบุว่า สวัสดีวันครับทุกท่าน ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาบอสมีโอกาสนั่งอ่านสิ่งที่สนใจและได้เห็นบทความบทความหนึ่งซึ่งคิดว่ามีประโยชน์และเป็นเรื่องที่ผมเองผลักดันมาตลอดนั่นคือเรื่องการแยกขยะ ผมจำได้ว่าก่อนมีสถานการณ์โควิด‘สถานการณ์โลกร้อน’ คือกระแสที่สร้างความตื่นตัวกันมาในบ้านเรามาก มีการทบทวนถึงสถานการณ์ในประเทศ พบว่า เราผลิตขยะในแต่ละวันมหาศาล แต่มีการจัดการที่แย่มาก สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายและก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอาคืนเราด้วยภัยพิบัติที่แรงและถี่ขึ้น
.
ในช่วงหนึ่งเราจึงมีการรณรงค์ลดขยะอย่างเข้มงวดจนถึงขั้นออกมาเป็นกฎระเบียบให้ร้านค้างดบริการถุงพลาสติก ผู้ซื้อจะต้องเตรียมถุงมาเอง แต่ตอนนี้แนวปฏิบัติดังกล่าวดูเหมือนว่าจะแผ่วลงไปอย่างน่าเสียดาย และดูเหมือนจะกลายเป็นแค่โอกาสใหม่ให้กลุ่มทุนได้ฉกฉวยเพื่อเป็นข้ออ้างลดต้นทุนเสียมากกว่า
.
ความล้มเหลวในมาตรการนี้ อาจเป็นเพราะเรายังทำงานทางความคิดไม่มากพอครับ การออกแบบองคาพยพต่างเพื่อรองรับไม่ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง ยังสร้างความเคยชินที่จะไม่เปลี่ยนแปลงจนวัฏจักรเดิมๆวนกลับมาเป็นปกติ แต่ยังไม่สายเกินไปครับที่เราจะลดการทำลายธรรมชาติแล้วหันมาใส่ใจทำเรื่องนี้โดยเริ่มจากที่บ้านและร่วมกันออกแบบการจัดการขยะอย่างเป็นระบบอีกครั้ง
.
วันก่อนผมมีโอกาสได้อ่านแนวคิดข้างหลังของเมือง Kamikatsu เมืองต้นแบบไร้ขยะที่สามารถชวนชาวเมืองแยกขยะได้ถึง 45 ประเภท จนสามารถนำขยะกลับมาใช้ได้ใหม่มากกว่า 80% ทั้งยังสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเมื่อทุกคนแยกขยะที่บ้านได้มีประสิทธิภาพ ขยะที่เหลือจะถูกนำมาไปที่ศูนย์คัดแยกขยะและถูกจัดการได้ 100 % เลยครับ
.
บทความนี้https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1757249537736819/2181585318636570/ เป็นงานเมื่อปี 2019 มีการบรรยายในหัวข้อ ‘Set Zero เวิร์กช็อป เรื่องการจัดการขยะ’ ที่จัดโดยเครือข่าย ‘Big Trees’ ครีเอทีฟ เอเจนซี่ ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ และ ‘Japan Foundation’ ซึ่ง ได้เชิญคุณ Akira Sakano ประธานของ Zero Waste Academy ผู้นำเมืองไร้ขยะและที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ เมือง Kamikatsu โด่งดังไปทั่วโลกด้านการไร้ขยะมาบรรยายในประเทศไทย เมืองนี้ไม่มีถังขยะ รถขนขยะ หลุมฝังขยะ หรือกระทั่งเตาเผาขยะ แต่จัดการขยะทั้งหมด 100 % ได้อย่างไรเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆครับ
.
เขาเริ่มต้นจากการผลักดันจากแนวคิดในการแยกขยะที่บ้านเป็นลำดับแรก ประเด็นสำคัญก็คือ เขาสามารถจัดการ ‘องค์ความรู้’ ในการแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆได้เป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนในเมืองที่สามารถแยกขยะละเอียดยิบได้ถึง 45 ประเภท จนเหลือขยะจากบ้านเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นขยะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้และถูกจัดการในรูปแบบอื่นแทน
.
คุณ Akira เล่าประสบการณ์ในช่วงเริ่มต้นว่า ยากพอสมควรเพราะมีคนที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ใช้วิธีให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งทดลองทำก่อน เมื่อผลตอบรับออกมาดีก็บอกเล่าเป็นปากต่อปาก จนกระทั่งทุกคนในเมืองหันมารีไซเคิลกันหมด
.
สำหรับการยกขยะออกเป็น 45 ประเภท เคล็ดลับก็คือ ทุกคนไม่จำเป็นต้องจำได้ว่าขยะ 45 ประเภทนั้นมีอะไรบ้าง แต่ใช้วิธีบอกให้ชัดด้วยป้ายบนถังแยกบอกอย่างชัดเจน แต่หากเข้าใจไม่ตรงกันก็มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำที่จุดแยกขยะ และเธอยังให้กำลังใจมายังประเทศไทยด้วยว่า เราเองก็สามารถจัดการขยะได้ดีขึ้นได้ เพราะญี่ปุ่นก็เคยทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองมาก่อนและเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 50 กว่าปีมานี้เอง
.
ได้รับรู้แบบนี้ก็รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมา ผมเองเป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ เวลาไปไหนก็จะพยายามพูดถึงความสำคัญและนำถุงขยะประเภทต่างๆติดมือไปด้วยเพื่อให้ขยะในครัวเรือนจัดการได้ง่ายขึ้น แม้ว่าตอนนี้เราอาจจะยังไม่สามารถแยกขยะได้ละเอียดยิบแบบเมือง Kamikatsu แต่โดยพื้นฐานที่สุด หากแยกขยะเปียกหรือขยะสดออกจากขยะอื่นได้ การจัดการขยะก็จะง่ายขึ้นไม่ว่าจะนำไปฝัง เผา หรือรีไซเคิ้ล และถ้าเรามีเป้าหมายไปให้ถึงเมืองไร้ขยะ ยิ่งจัดการขยะในบ้านได้ดีเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใกล้เป้าหมายนี้ และเมื่อขยะในบ้านเหลือน้อยที่สุด สิ่งที่เหลืออาจไม่ใช่ขยะ เป็นเป็นต้นทุนที่สามารถสร้างเป็นรายได้กลับมาให้ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
.
เมือง Kamikatsu เริ่มต้นโครงการปลอดขยะ (zero waste) ในปี 2003 มีเป้าหมายร่วมกันว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นเมืองที่ปลอดขยะ 100% ได้ในปี 2020 ตอนนี้เขาทำสำเร็จแล้ว สำหรับบ้านเรา ภายใต้ต้นแบบความสำเร็จที่มีให้เห็น ถ้าเริ่มวันนี้ระยะเวลาความสำเร็จของเราก็จะเร็วกว่านั้นได้ ผมขอยืนยันอีกครั้งว่ายังไม่สายเกินไปที่จะกลับมาตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อโลกของเราที่น่าอยู่และเป็นมิตรต่อทุกชีวิตครับ
.
ยังไม่สาย!!’อริย์ธัช’ยก’Kamikatsu’ต้นแบบเมืองไร้ขยะ ชี้มาตรการงดให้ถุงล้มเหลว แนะยังไม่สายตั้งเป้าใหม่
- Advertisement -