“ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” เปิดเผยเกี่ยวกับช่วงเทศกาลแห่งบุญ“กินเจ 2564”ระหว่างวันที่ 6-14 ต.ค.นี้ พบว่า เทศกาลกินเจปีนี้จะไม่คึกคักมากนัก โดยประเมินว่าจะมียอดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจอยู่ที่ 40,147 ล้านบาท ขยายตัวติดลบ 14.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 4-13 ต.ค.2564 จากตัวอย่างทั้งสิ้น 1,208 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านขณะนี้ และจากยอดใช้จ่ายของเทศกาลกินเจ 2564 ที่ 40,147 ล้านบาท หรือติดลบ 14.5% นั้น ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 เลยทีเดียว
.
ขณะที่ความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมใน 36 จังหวัด คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 15,036 ล้านบาท คิดเป็น 0.1-0.2% ของจีดีพี แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะยังไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554 ที่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั้งโรงงาน อุตสาหกรรม ระบบขนส่ง โดยคาดว่าสถานการณ์จะสามารถคลี่คลายได้เร็วๆ นี้
.
ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินว่า เทศกาลกินเจ 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีการใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนอกจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว ยังเป็นผลจากจำนวนคนที่กินเจลดลง อีกทั้งยังปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศบางส่วนที่ยังคง WFH จึงไม่เอื้อต่อการจับจ่ายในช่องทางการกินเจที่คุ้นเคยอย่างร้านอาหารข้างทางบริเวณที่ทำงาน ขณะที่ช่องทางร้านสะดวกซื้อและเดลิเวอรี หรือออนไลน์ มีแนวโน้มที่คนจะหันมาใช้บริการมากขึ้น
.
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”ระบุด้วยว่า แม้สถานการณ์โควิดและการเข้าถึงวัคซีนในประเทศจะเริ่มมีสัญญาณบวก แต่ก็ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่สำคัญเฉพาะหน้าคือ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเพียงใด เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่ยุติ ฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด และมีการคาดการณ์ว่าอาจจะยังมีพายุอีก 1-2 ลูกเข้ามาหลังจากนี้
.
“ขณะที่การเร่งตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลกท่ามกลางเงินบาทที่อ่อนค่า ก็เป็นอีกตัวแปรที่จะส่งผลต่อทิศทางราคาพลังงานในประเทศให้ขยับสูงขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เดิมก็เปราะบางอยู่แล้ว ขณะเดียวกันความไม่สะดวกในการเดินทางและขนส่งในพื้นที่ประสบภัย ความเสียหายต่อพืชผลเกษตรก็ยังเป็นแรงกดดันต้านต้นทุนและราคาสินค้า โดยเฉพาะผัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ด้วย”
.
ขณะที่“กระทรวงพาณิชย์” ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ 2564 พบว่า การจับจ่ายใช้สอยลดลง 30-40% เนื่องจากคาดว่าประชาชนส่วนใหญ่หันไปปรุงอาหารเองที่บ้านมากขึ้น หรือซื้อสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ขณะที่ราคาผักนั้นยอมรับว่าภาพรวมมีการปรับขึ้นจากช่วงก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลให้การขนส่งสินค้าเข้ามาถึงตลาดมีความยากลำบากมากขึ้น และทำให้สินค้ามีปริมาณน้อยลง ส่วนวัตถุดิบจำพวกของแห้งที่เกี่ยวกับเทศกาลกินเจ อาทิ เส้นหมี่ เห็ดหอมแห้ง โปรตีนเกษตรยังมีราคาเท่ากับปีก่อน และยังมีสินค้าต่อเนื่อง ไม่มีสัญญาณการขาดแคลนแต่อย่างใด
.
ทั้งนี้อาจจะต้องยอมรับว่าหลายปัจจัยเสี่ยงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น สถานการณ์น้ำท่วมที่มีผลกระทบต่อราคาผักในช่วงเทศกาลกินเจ 2564 ให้ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยเรื่องการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อรายได้ของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลให้ลดลง ทำให้เทศกาลกินเจปีนี้อาจจะไม่ค่อยคึกคักเหมือนปีก่อนๆ โดยหวังว่าหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
.
- Advertisement -