จากกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เสนอตัวเป็น รมว.คลังในการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ออกรายการเว็บไซต์ลงทุนแมน เจอชาวเน็ตโวยประเทศไม่ใช่ตลาดนัด ชี้นโยบายกระทบตลาดทุน คนรวยโดนรีด คนจนก็ไม่รวยขึ้น
.
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Chalermporn Tantikarnjanarkul” หรือ นายเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ซึ่งเป็นพิธีกรรายการดังกล่าว ได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นนี้ ระบุว่า
“นั่งสัมภาษณ์คุณไหม ศิริกัญญา มาเกือบสองชั่วโมง ตัดเป็นเนื้อหาออกมาเกือบๆชั่วโมงครึ่ง แต่ละท่านน่าจะได้ฟังกันบ้างแล้ว บางประเด็นก็น่าชื่นชม เช่นความกล้าเปลี่ยนแปลง แต่บางประเด็นก็ยังน่าเป็นห่วงและควรช่วยกันนำเสนอข้อสังเกต เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน
ผมว่าปัญหาหนึ่งของระบบความคิดด้านเศรษฐกิจของก้าวไกล คือการมองปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบง่ายเกินไป คือมองเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนายทุนกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนรวยกับคนจน ทั้งที่สังคมมันซับซ้อนกว่านั้นมาก ยังมีคนอีกมหาศาลที่ยืนอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีแววจะโดนลูกหลงจากสงครามนี้ก่อนเพื่อน
เราต้องยอมรับก่อนว่าคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนชั้นล่างในไทยนั้นแย่จริงและควรต้องแก้ไข แต่คำถามคือ how? การแก้สิ่งหนึ่ง กำลังทำให้เกิดปัญหาอีกอย่างตามมาหรือเปล่า?
เอาแค่เรื่องตลาดหุ้นก่อนเพราะเรื่องอื่นน่าจะพูดกันเยอะแล้ว ในตลาดนี้ มีคนรวยหมื่นล้าน แสนล้านอยู่จริง อันนี้เป็น fact แต่จากข้อมูลที่ก้าวไกลนำเสนอ ถ้าทั้งประเทศ มีคนที่ wealth มากกว่า 300 ล้านบาท แค่แสนคน แปลว่าในตลาดทุน ยังมีอีกเป็นล้านคนที่ไม่ใช่คนรวย (ถ้านับการลงทุนทางอ้อมอย่าง กบข. ประกันสังคม หรือ PVD และกองทุนอื่นๆ น่าจะมีเป็นสิบล้านคน)
แต่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงาน เสียภาษี อดออม และนำเงินมาลงทุน โดยหวังเพียงว่าตลาดหุ้น จะเป็นความหวังในการยกระดับฐานะหรือวางแผนเกษียณและถ้ากวาดตามองไปในสังคมไทยตอนนี้ นอกจากตลาดหุ้น เหลืออะไรอีกบ้างที่เป็นความหวังของชนชั้นกลางไทยได้อีก?
การจะเหมารวมว่านักลงทุนในตลาดหุ้นคือคนรวย อันนี้คือการเหมารวมที่ผิดมาก และตลาดหุ้นก็ไม่ใช่กระปุกหมูออมสิน ที่พออยากใช้เงินก็มาทุบเอาไปใช้ เพราะมันมีผลเสีย
แม้แรงงานและเกษตรกรคือรากฐานของประเทศ แต่ชนชั้นกลางคือคนขับเคลื่อนประเทศครับ คนกลุ่มนี้ คือฐานรายได้ภาษีของรัฐขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับการเป็นผู้บริโภคหลักของเศรษฐกิจ ทำงานเก่ง ใช้เงินเก่ง ถ้าคนกลุ่มนี้ไม่โต ประเทศก็โตยาก แถมจะเปลี่ยนมากี่รัฐบาล คนกลุ่มนี้ก็ถูกลืมตลอด เพราะไม่รวยพอที่จะได้ประโยชน์จากรัฐ และไม่จนพอที่รัฐจะมาช่วยเหลือ ได้แต่ก้มหน้าดูแลตัวเองไปเงียบๆ
จากนโยบายหลายๆอย่างของก้าวไกล ฟังแล้วน่าจะไม่เอื้อต่อตลาดทุน ซึ่งอาจจะทำให้ตลาดหุ้นไทย ที่แทบไม่โตอยู่แล้ว แย่ลงไปอีก โอกาสที่ชนชั้นกลางจะสร้าง wealth ก็น้อยลงไปอีก แถมตลาดทุนคือเครื่องมือในการระดมทุนที่ดีที่สุดทางหนึ่ง ถ้าเครื่องมือนี้ง่อยเปลี้ย เศรษฐกิจย่อมมีปัญหา
ถ้าเค้กก้อนที่มีก็ไม่โต แถมอาจจะหดลง จะแบ่งกันยังไง ก็แทบไม่มีใครอิ่ม เราอาจจะสร้างความเท่าเทียมใหม่ด้วยการหิวโซกันหมด
ถ้าก้าวไกลได้เข้ามาทำงานจริง ผมอยากให้ลองคิดใหม่ ลองแบ่งมิติชนชั้นทางสังคมให้ละเอียดขึ้น อยากให้ลองมองตลาดทุนในแง่บวกบ้าง เพราะเราไม่ใช่ผู้ร้ายที่จะมาสูบเลือดสูบเนื้อใคร ถ้าอยากจัดการ elite หรือทุนผูกขาด ก็ต้องทำให้ชัด เน้นไปที่คนที่สร้างความร่ำรวยด้วยวิธีที่ผิดเท่านั้น อย่าให้กระสุนพลาดเป้าไปโดนคนอื่น
ผมเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่คงไม่ใจยักษ์ใจมาร หรือไม่อยากเห็นคนชั้นล่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้านโยบายของก้าวไกลคือ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” เราก็อยากให้เฉลี่ยสุขมาทางนี้บ้าง เพราะเท่าที่ฟังเหมือนเราจะได้รับเฉลี่ยทุกข์มาอย่างเดียว
น่าจะดีกว่าถ้าส่งเสริมให้ตลาดนี้เติบโต โดยกำจัดเฉพาะกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากตลาดนี้อย่างมิชอบ แล้วหาหนทางให้คนที่ยังไม่มีโอกาส ได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดนี้บ้าง น่าจะเรียกได้ว่า “เท่าเทียม” อย่างสร้างสรรค์กว่า
และถ้าจะมีใครมั่งคั่งร่ำรวยจากตลาดนี้ ด้วยความรู้ความสามารถความพยายามที่มากกว่าคนทั่วไป ไม่ได้ไปคดโกงใคร ผมว่าความรวยนั้นก็เป็นผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับเขาแล้ว ไม่ได้ผิดแต่อย่างใดนะครับ จะเก็บภาษีเพิ่ม เราก็ไม่ว่า ทำให้เศรษฐกิจโต ทำให้ตลาดโต จะจ่ายภาษีเพิ่มบ้าง คงไม่มีใครขัดหรอกครับ
ผมเห็นด้วยกับก้าวไกลว่าประเทศนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลง และเข้าใจดีกว่าก้าวไกลก็แบกความกดดันจากสิ่งที่ประกาศหาเสียงเอาไว้ แต่ต้อง make sure ว่าการเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วต้องดีขึ้น เพราะประเทศไม่ใช่ sand box ให้มาทดลองนโยบาย”