เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.66 อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมคณะส.ส.ของพรรค 150 คน เดินทางเข้ารายงานตัวส.ส. ต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โดยนายพิธากล่าวก่อนการเข้ารายงานตัวว่า การเลือกตั้งรอบก่อนได้ 83 คน ครั้งนี้ได้151 คน โดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า สิ่งที่สำคัญคงไม่ใช่เรื่องของตัวเลข แต่เป็นเรื่องของการทำงานที่มีความตั้งใจที่จะเป็นส.ส. ให้สมกับที่ได้รับเลือกมา มีกฎหมายก้าวหน้าสำคัญๆ สำหรับพี่น้องประชาชนหลายๆ รูปแบบอยู่ ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ ชาติพันธุ์ คนพิการ เอสเอ็มอี หรือแรงงาน เป็นกฎหมายที่รอเราอยู่ และมีหลายเรื่องที่พยายามจะทำในสภาฯ ชุดที่แล้ว แต่ก็ถูกปัดตกไป คราวนี้ก็หวังว่าจะทำให้ระบบนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร สามารถที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้จริงๆ
นายพิธากล่าวต่อว่า ที่ตนเดินทางมารายงานตัวในวันนี้เนื่องจากติดโควิด-19 ทำให้มารายงานตัวก่อนหน้านี่ไม่ได้เมื่อแข็งแรงขึ้นจึงเลือกวันนี้ 27 มิ.ย. ซึ่งก็มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาติไทยพอสมควร และเป็นนิมิตหมายที่ดี
เมื่อถามว่ากังวลถึงกรณีที่มีส.ว. หลายคนออกมาระบุว่าจะไม่โหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกฯหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่กังวลใจ เท่าที่มีโอกาสได้พูดคุยกับส.ว. ก็มีหลายท่านทีมีดุลยพินิจ และหลักการ ที่จะใช้ในการโหวตเลือกตามบรรทัดฐานที่เคยทำไว้ในปี 2562 ที่เคยพูดไว้ว่า “ถ้าใครที่รวมเสียงในสภาล่างได้เกิน 250 เสียง ก็ไม่อยากจะฝืนมติของสภาล่าง” ซึ่งเป็นมติที่มาจากประชาชนอีกที ดังนั้น ถ้าบรรทัดฐานเป็นเช่นนั้นแล้ว โดยภาพรวมส.ว. ทั้ง 250 คนน่าจะเป็นไปตามหลักการ ไม่ใช่เรื่องของบุคคลว่าจะโหวตหรือไม่โหวตตน ถ้ายึดหลักการให้มั่นก็ไม่มีอะไรน่ากังวลใจ
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล เคยระบุว่าได้เสียงสนับสนุนจากส.ว.มากแล้ว แต่ภายหลังนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กลับออกมาให้ความเห็นแย้งกัน โดยระบุว่า มีส.ว.เพียง 5 คนที่จะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ นายพิธา กล่าวว่า ต้องยืนยันกับพี่น้องประชาชน ว่าสิ่งที่น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยพูดไว้ เป็นเรื่องจริง เราทำงานเต็มที่ ที่จะพยายามทลายกำแพง และสร้างความเข้าใจระหว่าง 2 สภา เป็นเรื่องจริงที่ว่า มีความคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ ส.ว.ไม่ได้มีโอกาสพูดกับสื่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เมื่อถามย้ำว่า สามารถระบุเป็นตัวเลขได้หรือไม่ว่า ส.ว. ที่สนับสนุนมีจำนวนเท่าไหร่ นายพิธากล่าวว่า “เพียงพอกับการที่ผมเป็นนายกฯ”
นายพิธา ยังกล่าวถึงรายละเอียดในขณะที่เจรจากับส.ว. ได้มีการชี้แจงถึงการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ ว่า หลายๆเรื่องที่เป็นข้อกังวลใจ ส่วนใหญ่แล้วเราจะพูดในเรื่องของหลักการ ซึ่งหลักการ ณ ขณะนี้ และปี 2562 ก็คงจะเป็นสิ่งเดียวกัน
เมื่อถามว่า จะมีการลดเพดานในการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อแลกกับเสียงสนับสนุนของส.ว.ที่จะเพิ่มขึ้น หรือจะแก้ไขตามที่เคยหาเสียงกับประชาชนไว้ นายพิธากล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 112 เป็นสิ่งที่เราพูดไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งในเกือบทุกเวทีดีเบต และได้พูดชัดเจนตกผลึกว่า การแก้ไขมาตรา 112 น่าจะเป็นทางออกให้กับสังคมไทย ในช่วงที่ผ่านมามาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการรังแกคนเห็นต่างรวมทั้งเยาวชน ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย
“และการที่เราจะเก็บรักษาสิ่งที่เรารักต้องมีการแก้ไขตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ตรงนี้คงไม่ได้เป็นประเด็นที่ทำให้เส้นทางการตั้งรัฐบาลสะดุดลง แต่เมื่อมีข้อมูลจากหลายฝ่ายอาจจะทำให้คนเข้าใจผิด แก้ไขก็คือแก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก” นายพิธา กล่าว
นายพิธา ยังให้ความมั่นใจด้วยว่า เท่าที่คุยกับหลายฝ่ายก็ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า หากมีเงื่อนไขที่ทำให้นายพิธา ไปไม่ถึงการเป็นนายกฯ จะทำอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ เพราะเหมือนกับการเอาเสียงที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน มาปะทะกับสถาบันโดยตรง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอันตราย เพราะฉะนั้นออย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้าง เพราะมีหลายเรื่องที่เราเห็นตรงกันที่จะต้องบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องของนิติบัญญัติและรัฐสภา
เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด ว่ามีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการ ตามคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ให้ระงับนโยบาย ยกเลิกมาตรา 112 โดยให้แจ้งกลับศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นายพิธา กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด การแก้ไขกฎหมายๆ หนึ่ง ไม่เท่ากับการล้มล้างการปกครองอย่างที่กล่าวหา และเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริงไปมาก เรามีความตั้งใจที่จะรักษาประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นี่เป็นหลักที่เรายืนอยู่
เมื่อถามต่อว่า กรณีข้างต้นเกิดขึ้นก่อนจะมีการโหวตเลือกนายกฯ จะมีการชี้แจงให้ส.ว. ไม่นำเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขอย่างไรบ้าง นายพิธากล่าวว่า มีการอธิบายกันอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้เป็นอย่างที่ปรากฏในข่าว ว่ามีการนำเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ทำตามมติของสภาล่าง
เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ พรรคก้าวไกลยังยืนยันหรือไม่ว่า เก้าอี้ประธานสภาต้องเป็นของพรรคอันดับ 1 นายพิธา กล่าวว่า รอประชุมกับทางพรรคเพื่อไทย (พท.) ในวันที่ 28 มิ.ย. ก่อน แล้วจึงแถลงร่วมกัน