หน้าแรกข่าวเด่น'พิธา'ยกเอเปคสมัย'ทักษิณ'เทียบยุค'บิ๊กตู่'ซัดตั้งเป้าหมายการประชุมที่ตัวเองยังทำไม่ได้ เสี่ยงทำคำพูดไทยในเวทีโลกไร้น้ำหนัก!!

‘พิธา’ยกเอเปคสมัย’ทักษิณ’เทียบยุค’บิ๊กตู่’ซัดตั้งเป้าหมายการประชุมที่ตัวเองยังทำไม่ได้ เสี่ยงทำคำพูดไทยในเวทีโลกไร้น้ำหนัก!!

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า สำหรับการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ คงเป็นเรื่องยากครับที่เราจะไม่ได้มองย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับการจัดเอเปคในปี 2003 ที่คนไทยจำกันได้เป็นอย่างดี ในช่วงนั้นที่ APEC ดูมีความสำคัญมากกว่าในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไทยทั้งหมดแต่ตัวเอเปคเองที่เป็นเวทีเจรจาการค้าการลงทุนในยุคที่โลกาภิวัตน์เบ่งบานหลังจากสงครามเย็น
.
ขณะที่โลกทุกวันนี้ที่อยู่ในสถานการณ์ตึงเครีนดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแข่งขันระหว่าง จีน-สหรัฐฯ และความนิยมต่อการค้าเสรีที่ลดน้อยถอยลง ก็ทำให้บรรยากาศของการเจรจาการค้าเสรีที่ใหญ่อย่าง APEC เริ่มซาลงไป
.
สิ่งที่ประเทศต่างๆ น่าจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวกันของผู้นำโลกจำนวนมากขนาดนี้ คือการหารือแบบทวิภาคี หรือการประชุมคู่ขนานกับงานหลักมากกว่า ดังเช่นที่ในปี 2003 สหรัฐฯ ก็ได้ใช้เวที APEC ที่ไทยในการระดมการสนับสนุนกับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และในปลายปีนั้นประเทศไทยก็ได้รับสถานะเป็น “พันธมิตรหลักนอกนาโต” ซึ่งช่วยให้ประเทศได้สิทธิประโยชน์หลายประการเกี่ยวกับความมั่นคง
.
สำหรับในปี 2022 นี้การประชุมที่สำคัญที่สุดคงเป็นการทานอาหารเย็นระหว่างนายกไทยและ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ซึ่งก็คงจะหารือกันในหลายเรื่องที่อาจรวมถึง China-ASEAN FTA 3.0 ที่จีนผลักดันขึ้นมารับมือกับข้อตกลง IPEF ของอเมริกา ก็ต้องดูความสามารถของนายกไทย ว่าจะสามารถเจรจาอะไรที่ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์หรือไม่
.
สำหรับหัวข้อหลักในการประชุม APEC เรื่อง “ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ” ว่าด้วย BCG Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว) อาจจะไม่ได้มีผลกระทบทางตรงกับชีวิตประชาชนมากเท่ากับเรื่องที่คุยกันนอกรอบ เนื่องจากตัวร่างเป้าหมายเองต้องได้รับฉันทามติจากทุกประเทศในทุกย่อหน้า และไม่ได้มีกลไกอะไรบังคับ
.
แต่ถ้าเราคิดว่าจะใช้ BCG Economy เป็นจุดขายของประเทศก็นับว่าจะยังมีอุปสรรคอยู่มากครับ เพราะว่าเรากำลังขายในเรื่องที่เราไม่ได้มีความเป็นผู้นำ ยกตัวอย่างเช่น ในร่างเป้าหมายมีข้อหนึ่งที่พูดถึงเรื่องการเข้าสู่ Net Zero ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายดังกล่าวในเวที COP26 ตามหลังแทบทุกประเทศด้วยซ้ำไป
.
ในอีกข้อหนึ่งที่พูดถึงการยกระดับการปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อน ประเทศไทยแทบจะเป็นไม่กี่ประเทศที่มาประชุมด้วยซ้ำไปที่ยังไม่ได้มีแนวคิด Climate Adaptation อยู่ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือนโยบายด้านการเกษตร
.
นอกจากนี้ร่างเป้าหมายยังมีอีกข้อหนึ่งที่ (ข้อมูลล่าสุดที่ทราบยังไม่ได้ฉันทามติ) ว่าจะลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีประสิทธิภาพและเน้นช่วยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นจริงๆ แต่ในสภาเราก็เพิ่งจะผ่าน พ.ร.ก. ค้ำประกันเงินกู้ 150,000 ล้านบาทไปหมาดๆ ไปค้ำประกันให้กับการอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เงินอุดหนุนตกไปอยู่กับกลุ่มมีขับรถหรูที่ใช้น้ำมันดีเซล
.
ถ้าเราไม่ได้ดูเรื่องการต่างประเทศ แต่ดูเฉพาะ BCG ในประเทศแล้ว สำหรับ “แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570” ว่าจะทำให้ BCG Economy เกิดได้จริงในไทยหรือไม่ ถ้าดูในรายละเอียดของแผน จะเห็นได้ว่ามี 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกันคือ
.
1) การสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากร
2) การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
3) การยกระดับอุตสาหกรรมภายใต้ BCG (อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เครื่องมือแพทย์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ)
4) การสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสโลก (เน้นเรื่องพัฒนาคนและเทคโนโลยี)
.
ถ้าลงไปดูในรายละเอียดของงบประมาณทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่างงบประมาณ 6 ปี 4 หมื่นล้านนั้นเทลงไปที่ยุทธศาสตร์ที่ 3 แทบทั้งหมด เหมือนกับเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องมือแพทย์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ มากกว่ายุทธศาสตร์ เศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม
.
ถึงแม้ว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทยเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกครับหากจะถูกมองได้ว่าเป็นเพียงการ “ฟอกเขียว” (Green Washing) ให้กับกลุ่มทุน แผนุการส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยปกติเช่นนี้ ที่ไม่ได้สอดคล้องกับกระแสโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างความเป็นผู้นำและความยอมรับจากสากลได้ยากครับ การตั้งเป้าหมายที่เราเองทำไม่ได้ ไม่ได้มีความเป็นผู้นำ มีความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำหนักของคำพูดของไทยในเวทีโลกนับวันยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ
.

ThePoint #ข่าวการเมือง #เอเปค #APEC #รัฐบาล #พิธาลิ้มเจริญรัตน์ #ก้าวไกล

Must Read

Related News

- Advertisement -