เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 67 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Street Signs Asia” ของสำนักข่าว CNBC วันนี้ (29 เม.ย.) ว่า แรงกดดันทางการเมืองจะไม่ทำให้ ธปท.เสียความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย และแม้จะมีแรงกดดันอย่างมากให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ ธปท. ก็ไม่ได้ดำเนินการตาม หากไม่ใช่การดำเนินการอย่างเป็นอิสระ
“ผมคิดว่ากรอบการกำกับดูแลของแบงก์ชาตินั้นค่อนข้างชัดเจน…การตัดสินใจที่ผ่านๆ มาบ่งชี้ถึงการดำเนินการบนพื้นฐานของสิ่งที่เรารู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดต่อเศรษฐกิจประเทศ มากกว่าจะเป็นความพยายามเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรืออื่นๆ” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ก่อนหน้านี้รอยเตอร์สรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน เม.ย. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% ทว่า ธปท.เผชิญแรงกดดันอย่างจากรัฐบาลให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งแรงกดดันนี้ยังมาจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยเองด้วย
จากบันทึกการประชุมของ กนง.ในเดือนเม.ย. ระบุว่า กนง.มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง
ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับว่า การรักษาสมดุลระหว่างนโยบายการเงินกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงนั้นเป็นงานที่ยากสำหรับแบงก์ชาติ แต่หากดูเหตุผลของสิ่งที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงจะพบว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากนัก
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว และสอดคล้องกับความพยายามที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยต้องรักษาสมดุลไม่เพิ่มภาระให้ครัวเรือนมากจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามไม่ให้ประชาชนก่อหนี้ใหม่มากจนเกินไปด้วย
ทั้งนี้ ธปท.ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 2.6% และปีหน้าที่ 3.0% โดยยังคงได้แรงหนุนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอ่อนแรงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ แต่ผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำว่า แบงก์ชาติมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ระหว่าง 1-3% ภายในสิ้นปีนี้
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน โดยจำเป็นต้องมีการเพิ่มผลิตภาพในขณะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและประชากรวัยทำงานหดตัวลง
“ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คือการลดและผ่อนคลายกฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ” นายเศรษฐพุฒิกล่าว