นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “จับตาวันนี้ 10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญจะ ปิดประตู ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่?” โดยระบุว่า 15.00 วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ ณฐพร โตประยูร ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอาทิตยา พรพรม เลิกการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49
.
โดยณฐพร โตประยูร ได้อ้างว่า การปราศรัยของอานนท์ นำภา และพวกที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์รวม 6 ครั้ง นั้นเป็นการใช้เสรีภาพอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คดีนี้มีความสำคัญ เป็นหมุดหมายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่งผลทางการเมืองอย่างมหาศาล และชี้ชะตาสังคมไทย
.
หากผมเป็น “คนใส่ชุดครุยนั่งบนบัลลังก์กระทำการในนามศาลรัฐธรรมนูญ” ผมจะวินิจฉัยว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์ นำภา และพวก ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
แต่ในเมื่อผมไม่ได้เป็น ก็จะขอลองวิเคราะห์คาดการณ์ความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยในวันนี้กัน โดยผมพิจารณาจากแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรานี้มาในคดีก่อน ประกอบกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ออกเป็นสามแนวทาง ดังนี้
.
แนวทางแรก ยกคำร้อง ยืนยันว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์ นำภา และพวก ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แนวทางที่สอง ยกคำร้อง แต่วางกรอบเงื่อนไขการใช้เสรีภาพในการแสดงออกไว้ ตามบทบัญญัติมาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งได้เพียงสองทางเท่านั้น คือ ถ้าเห็นว่าการกระทำของอานนท์และพวกไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ต้องยกคำร้อง แต่ถ้าเห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ต้องสั่งห้ามการกระทำดังกล่าว
.
อย่างไรก็ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ “อาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ตามความจำเป็นหรือสมควรตามความเป็นธรรมแห่งกรณี” และตามแนวศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา พบว่า ในหลายคดี ศาลรัฐธรรมนูญมักกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องกระทำการใดๆเพิ่มเติมตามมา ยกตัวอย่างเช่น ในคดีที่ณฐพร โตประยูร ร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือที่รู้จักกันเล่นๆว่า “คดีอิลลูมินาติ” นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ยกคำร้อง แต่สั่งเพิ่มเติมลงไปว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งการให้พรรคอนาคตใหม่ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับพรรค โดยต้องเติมคำว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เข้าไปด้วย เป็นต้น
.
ดังนั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยว่าอานนท์ นำภา และพวก ไม่ได้กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่หากกระทำการเช่นว่าต่อไปในอนาคต ก็ต้องอยู่ในกรอบเงื่อนไขที่ศาลวางไว้ หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตามแนวทางนี้ ผมเชื่อว่า บรรดา “นักร้อง” บรรดาเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐ และบรรดาฝ่ายตรงกันข้ามของ “ราษฎร” จะนำมาแนวคำวินิจฉัยนี้มาใช้อ้างเพื่อ “ตีกรอบ” การใช้เสรีภาพในการรณรงค์เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นอน
.
แนวทางที่สาม สั่งห้ามการกระทำของอานนท์ นำภาพ และพวก โดยยืนยันว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์ นำภา และพวก เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตามแนวทางนี้ ก็เท่ากับว่า อานนท์ นำภา และพวก ผู้ถูกร้องในคดีนี้ จะไม่สามารถกระทำการอันเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ ปัญหาที่ต้องมาขบคิดต่อ ก็คือ เราไม่รู้ว่าสุดท้ายที่ว่าห้ามการกระทำนั้น ศาลจะสั่งห้ามกระทำอะไรบ้าง? ห้ามกระทำภายในระยะเวลาเท่าไรหรือห้ามตลอดชีวิต? เป็นแนวทางที่จะห้ามบุคคลอื่นๆนอกจากอานนท์และพวก หรือไม่? “นักร้อง” และองค์กรอื่นๆของรัฐจะใช้แนวคำวินิจฉัยนี้ไป “ปิดปาก” ฝ่ายรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือยกเลิก ป.อาญา มาตรา 112 หรือไม่?
.
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยหรือไม่? การรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือการรณรงค์เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 2 จะดำเนินได้ต่อไปหรือไม่? ทั้งหมดนี้อยู่ใน “กำมือ” ของศาลรัฐธรรมนูญ
.
หากประตู “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ถูกปิดลง ก็เท่ากับว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่ยังรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ ให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือ constitutional monarchy ก็ถูกปิดลงไปด้วย
.
หากเป็นเช่นนี้ สังคมไทยก็จะเดินมาสู่ทางเลือกเพียงสองทางที่หลงเหลืออยู่ หนึ่ง อยู่กันไปแบบนี้ กับระบอบการปกครองแบบที่เป็นอยู่ที่มีลักษณะโน้มเอียงไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงมากขึ้นนับแต่ คสช.ก่อรัฐประหาร หรือ สอง ระบอบอื่น คงเป็นเรื่องยอกย้อนชวนหัวในทางประวัติศาสตร์ที่สุด ถ้าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบในประเทศไทย ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้อง “ข้อ 3 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ของ “ราษฎร” แบบที่หวาดระแวงกัน แต่มันกลับเกิดจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ !!!
.
อาจารย์สถิต ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกาเคยเขียนเรื่องเล่าชื่อว่า “ปากกาอยู่ที่มัน” เพื่อชี้ให้เห็นว่าผลแห่งคดีต่างๆขึ้นกับการขีดเขียนของผู้พิพากษา Roger Brooke Taney ประธานศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา เขียนคำพิพากษาจนพาประเทศสหรัฐอเมริกาไปสู่สงครามกลางเมือง บ่ายสามของวันพุธที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ คือ ผู้ชี้ชะตา !!!
.
‘ปิยบุตร’กร้าวถ้านั่งบัลลังก์ศาลตัดสิน’แกนนำราษฎร’ไม่ผิด!!คดีล้มล้างการปกครอง ยกบทเรียนสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ
- Advertisement -