นาย โอฬาร วีระนนท์ CEO and Co-founder,บริษัท Yak Green (ยักษ์เขียว) และ ผู้เขียนหนังสือ “คอนเทคชันพันล้าน สานเองได้” ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ CEO VISION PLUS ทาง FM 96.5 ในหัวข้อ คอนเนคชันพันล้าน สานเองได้ แบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม หรือ เนื้อหาของหนังสือ คอนเนคชันพันล้าน สานเองได้ ว่า แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้มาจากที่มื่อก่อนเป็นเด็กที่เติบโตมาด้วยทุนการศึกษาขาดแคลน ไม่ได้มีสมบัติอะไร ได้มาทำงานอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ และทำงานกับผู้คนหลากหลาย คุณโอฬารรู้ว่าเวลาที่คนเราเจอผู้ใหญ่ที่มีฐานะ ประสบความสำเร็จมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูง รวมถึงเหล่าผู้บริหาร นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ที่รวยเป็นร้อยล้าน พันล้าน คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเกร็ง แล้วรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า ทำตัวไม่ถูก จนทำให้พลาดโอกาสในการสร้างสายสัมพันธ์ดี ๆ อย่างถูกต้อง
ซึ่งในความจริงแล้วคนเราสามารถดีลได้กับผู้คนทุกระดับได้ ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเรามีทัศนคติที่ถูกต้อง เข้าใจหลักการสร้างสายสัมพันธ์ และฝึกฝนจนเป็นนิสัยและเชี่ยวชาญ ซึ่งในตอนนั้นรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสในการเจอคนเหล่านั้นมากมาย ทั้งจากการทำงาน กิจกรรมทั้งในและนอกองค์กร เลยทำให้รู้ว่าคนที่ตั้งตัวขึ้นมาเริ่มตั้งแต่ศูนย์จนกลายเป็นร้อย เป็นพันล้านหรือมากกว่านั้น
คนเหล่านี้มีจุดร่วมในเชิงทัศนคติที่คล้ายคลึงกันมาก ได้สัมผัสและเรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนทุกระดับให้ไว้วางใจ และสามารถต่อยอดทั้งในเชิง ชีวิต ธุรกิจ และสังคมร่วมกันได้ในอนาคตอย่างหลากหลาย ใช้ได้จริง จึงนำเรื่องเหล่านี้มาแบ่งปันผ่านหนังสือ “คอนเนคชันพันล้าน สานเองได้” ให้ผู้คนในวงกว้างได้ประโยชน์
นาย โอฬาร กล่าวต่อว่า “ยักษ์เขียว” เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ ของบจ. ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน “ยักษ์เขียว” มาจากการที่เราเชื่อมั่น และรู้สึกว่าจริง ๆ ว่า ภาคการเกษตรของไทยเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่แค่คำกล่าวสวยๆ ว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ชีวิตชาวนาและเกษตรยังลำบากยากจนอยู่
ประเทศไทยเรา มีพื้นที่การเกษตรราว 149 ล้านไร่ ครอบครัวเกษตรกรมีไม่น้อยกว่า 10 ล้านครอบครัว แต่มีค่าตอบแทนต่อไร่ต่อปีโดยเฉลียเพียง 8,000 บาทต่อไร่ต่อปี ถ้าเราสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้พื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้เพียง 1,000 บาทต่อไร่ต่อปี นั่นแปลว่าประเทศไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 150,000 ล้านบาท ถ้าตีเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจคือ 1% GDP และถ้าทำให้เพิ่มขึ้นได้ 10,000 บาทต่อไร่ต่อปีเราจะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท หรือราวคือ 10% GDP ทีเดียว หากเรามองภาพเช่นนี้ออกจะเห็นได้ชัดเจนว่าภาคการเกษตร สามารถเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เลย แต่ภาคการเกษตรปัจจุบันกลับเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องคอยให้เงินช่วยเหลือ (Subsidize) อยู่เสมอซึ่งเราพัฒนาได้ ถ้าเราตั้งใจทำมันอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ “ยักษ์เขียว” เป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่สร้างประโยชน์ให้ผู้คนมากมาย และขอให้เครดิต ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการปลดล็อกกฎหมายไม้หวงห้าม ส่งเสริมไม้การปลูกไม้ ป่าไม้เศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะทำให้ผู้คนและประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นนับแสนล้านบาท แต่เมื่อเราสามารถปลูกป่าไม้เศรษฐกิจได้จริง ทำไมโครงการนี้กลับสร้างผลกระทบ (Impact) ได้ไม่เยอะอย่างที่ตั้งใจ เหตุผลง่ายๆ คือชาวบ้านเขารอไม่ได้ สมมุติปลูกไม้เศรษฐกิจให้โตต้องรอ 10 – 20 ปี แต่เขารอไม่ได้ เขาจำเป็นต้องกิน ต้องอยู่ ต้องใช้เงิน ใช้หนี้ ในแต่ละวัน
เมื่อเห็นปัญหาจากการลงพื้นที่และลงมือทำจริง ก็ได้หารือ ระดมความคิดกันว่า มันมีวิธีการไหนไหมที่ทำให้ชาวบ้านเขาได้เงินเลยตั้งแต่วันแรกที่เขาร่วมโครงการ ยักษ์เขียวเลยสร้างรูปแบบธุรกิจที่เรียบง่าย แต่ได้ประโยชน์กับผู้คนทุกภาคส่วน (Stakeholders) ที่สนใจเรื่องการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้ สร้างประโยชน์ให้โลกใบนี้ เช่น หากชาวบ้านมีที่ดินแต่ไม่มีเงิน ชาวบ้านมีความรู้ มีเวลา มีแรง แต่ไม่มีตลาด เราให้ชาวบ้านทำในสิ่งที่ถนัด คือ การปลูกและดูแลต้นไม้ได้ มีพื้นที่ เราเช่า/ซื้อ/จ้างเขาเลย ทำให้เขาได้เงินทันที
เราชาวยักษ์เขียว ให้การสนับสนุน ช่วยทำในสิ่งที่ชาวบ้านไม่ถนัด และยากสำหรับเค้า เช่น เรื่องกฏหมาย เงินทุน การค้าขายระหว่างประเทศ การดีลสัญญา การวิจัยนวัตกรรม การเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์การส่งออก ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คุณโอฬาร กับเพื่อนๆ CEO ในหลายอุตสาหกรรม ถือเป็นนักธุรกิจกลุ่มแรกของไทย ที่มีโอกาสเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์และต่อยอดธุรกิจกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ร่วมกับคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เราเห็นโอกาสมากมายซึ่งต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ตลอดจนคณะผู้จัดงานไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ไม่ว่าใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต กระทรวงที่สำคัญมาก ๆ ที่สามารถพลิกฟื้นประเทศไทยได้ คือ กระทรวงเกษตรฯ ไม่ว่าเป็นพรรคการเมืองไหนที่เข้ามา ข้าราชการดี ๆ มีเยอะมาก แต่ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เค้าทำงาน ยกตัวอย่าง พี่กร ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นข้าราชการที่มีคุณภาพสูงมาก เป็นบุคคลที่พยายามให้องค์ความรู้เรื่องการเกษตรที่ทันสมัยในหลายมิติ ทันโลก ทำงานกับผู้คนมากมาย ในทุกระดับ ทั้งเกษตรรุ่นใหม่ ทำเรื่องการส่งออก ทุเรียนนานาชาติ ทำเรื่องวันดินโลก (World Soil Day) การใช้ดินของในหลวง ร.9 เรื่องการลด PM2.5 จากภาคการเกษตร ฯลฯ ทำเรื่องต่าง ๆ มาเยอะมากเลย แต่ต่อให้ข้าราชการตั้งใจขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่มีการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ จากภาคการเมือง ภาครัฐในภาพรวม ไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ยกตัวอย่างการค้าขายไปต่างประเทศในแต่ละครั้ง กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- กระทรวงพาณิชย์ ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดกรองคู่ค้า การส่งเสริมสนับสนุน จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะว่า คุยกับระดับรัฐต่อรัฐ กับคุยกันเองB2B คนละระดับ
- กระทรวงเกษตรที่ต้องประสานกับ ภาคอุตสาหกรรม เช่น หากเราส่งออกต้นไม้ 1,000 ต้น สามารถทำได้ ไม่ยากนัก แต่ถ้าบอกว่าส่งออกล้านต้น กลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น ต้องใช้ตู้ในการขนส่งกี่ร้อย กี่พันตู้ ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ฯลฯ และยังเกี่ยวเนื่องกับอีกหลากหลายหน่วยงาน
โดยคาดหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อจบการเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ควรเห็นความสำคัญกับการสนับสนุนภาคการเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน หาใช่เพียงการทำประชานิยมฉาบฉวย ประชากรภาคการเกษตร ที่มีมากกว่า 10 ล้านครัวเรือน รวมหลายสิบล้านคน เราสามารถเพิ่มรายได้ หาเงินเข้าประเทศได้เพิ่ม อย่างน้อย 1-10% ของ GDP เรื่อง Agripreneur หรือผู้ประกอบการด้านการเกษตรมูลค่าสูง ทุกพรรคที่ได้เข้ามาทำงาน ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
สามารถไปฟังฉบับเต็มย้อนหลังได้ที่ FM96.5 หรือ https://www.facebook.com/Thinkingradio/videos/5925343684186826