เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการนักประวัติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ภาพผ่านทางเฟซบุ๊ก พร้อมระบุข้อความว่า “On the way to Antony-Paris เดินทางไปบ้านที่อองโตนี บ้านเดิมของรัฐบุรุษอาวุโส ท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข”
ทั้งนี้ ในภาพมี นายชาญวิทย์ พร้อมด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, น.ส.พรรณิการ์ วานิช นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียน , สุดา พนมยงค์ บุตรสาวของ ปรีดี พนมยงค์ , นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นต้น ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ
ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า – Progressive Movement ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า “18 พฤษภาคม 2567 ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยทุกท่าน ร่วมติดตามการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live การแถลงข่าวการกลับมาของบ้านอองโตนี โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล เพื่อคืนความหมายทางประวัติศาสตร์ที่หายไป ให้กับสถานที่พำนักสุดท้ายของบิดาแห่งประชาธิปไตยไทย คืนสู่บ้านปรีดี”
นายปิยบุตร เคยเล่าผ่านแอปพลิเคชั่น (X) โดยระบุตอนหนึ่งว่า “เล่าเบื้องหลัง! ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และภรรยาซื้อบ้าน อ.ปรีดี พนมยงค์ ที่เคยอาศัยอยู่ขณะลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสจนถึงเสียชีวิตได้อย่างไร?
โดย นายปิยบุตรระบุว่า ช่วงหลังรัฐประหาร ประมาณปี 2016 ตอนนั้นมีนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่งสนใจประวัติศาสตร์เรื่องคณะราษฎร ก็ชอบไปสืบ ไปค้น ไปดูว่าบุคลากร สมาชิกคณะราษฎรที่ไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส เขาไปอยู่กันตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมตัวก่อตั้งคณะราษฎรอยู่แถวไหน
นักเรียนไทยในฝรั่งเศส ก็ไปสืบค้นรูปที่คณะราษฎรที่เขานั่งกัน นั่งอยู่ตรงไหน รวมถึงบ้านที่ อ.ปรีดี พนมยงค์ ไปอยู่ช่วงท้ายของชีวิต ตอนที่ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส ปรากฏว่าในบันทึกของ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา อ.ปรีดี พนมยงค์ เขาบอกว่าไปอยู่บ้านพักที่อองโตนี ฝรั่งเศส
นักเรียนไทยกลุ่มนี้ ช่วงแรกที่ไปก็หลงๆ กัน สุดท้ายเจอ เมื่อเจอปุ๊บก็มีความคิดว่า ถ้าบ้านหลังนี้ตกอยู่ในมือประเทศไทย ตกอยู่ในมือของรัฐบาลไทยก็คงดี เพราะใครเคยไปต่างประเทศ จะเห็นป้ายติดไว้ว่า บ้านหลังนี้ บุคคลที่มีชื่อเสียงชื่อนั้นชื่อนี้เคยอยู่ในช่วงปีไหน เขาจะติดป้ายไว้เต็มไปหมด
ผมก็มานั่งคิด เศรษฐีไทยทำไมไม่มีคนสนใจเลยล่ะ อาจจะเป็นไปได้ว่ากลัวว่าจะเป็นของร้อน เพราะฝ่ายอนุรักษนิยม จะทำลายความชอบธรรมของอภิวัฒน์สยาม 2475 ตลอด ดังนั้น เศรษฐีคนไหนที่ซื้ออาจจะโดนกาหัวก็ได้
แล้วรู้ได้ยังไงว่าขาย ตอนนั้นปี 2016 ผมก็ตามนักเรียนไทยกลุ่มนี้ไป ตอนนั้นทราบว่า เมื่อ อ.ปรีดีเสียชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุขก็เลยขาย เพราะจะพาครอบครัวกลับประเทศแล้ว เรื่องนี้มีนัยยะ เพราะแสดงให้เห็นว่า ครอบครัวพนมยงค์กลับบ้านได้ เพราะ อ.ปรีดีตาย ถ้ายังไม่ตายก็คงยังกลับไม่ได้
หลังจาก อ.ปรีดีเสียชีวิต คนที่ซื้อคือ ชาวเวียดนาม ชาวเวียดนามก็อยู่มาเรื่อยๆ ซึ่งวันที่คณะนักเรียนไทยไปนั้น ผมก็ตามไปด้วย เจอคุณยายเวียดนามคนหนึ่ง ตอนนั้นสุขภาพแข็งแรง สุดท้ายเราก็เล่าให้แกฟัง แกก็ใจดีเปิดให้เราเข้าไปดู
เราก็แอบถามว่า มีโอกาสที่จะขายบ้างไหม แกบอกว่าไม่ขาย เพราะแกรักบ้านหลังนี้มาก ลูกหลานอยากให้ขาย เพราะแกแก่มากแล้ว ดูแลตัวเองไม่ไหว และบ้านหลังใหญ่ ควรจะขายเอาเงินและย้ายไปอยู่อเมริกา คุณยายไม่ยอมขาย เพราะมีความทรงจำอยู่ที่นี่ คุณยายบอกว่า “ถ้านับเวลาการอยู่บ้านหลังนี้ ฉันอยู่นานกว่าครอบครัวพนมยงค์นะ”
เรื่องก็จบด้วยฉะนี้ คือแกไม่ยอมขาย แต่อยู่วันหนึ่ง “ธนาธร” ก็มาบอกผม อาจารย์ถ้าไม่มีใครซื้อ ผมซื้อเอง แต่ผมตอบว่า “เขาไม่ขาย”
แต่ประมาณ 2 ปีที่แล้ว 2022 ได้รับการแจ้งมาว่า มี คุณไรท์ คนไทยลาว-ฝรั่งเศสคนหนึ่ง ที่รู้จักครอบครัว พนมยงค์ และเขารู้จักกับคนเวียดนามคนนี้ด้วยว่า วันนี้เขาพร้อมขาย เพราะคุณยายแก่มากแล้ว ช่วยตนเองไม่ไหว ช่วยตนเองไม่ได้แล้ว
ผมเลยกลับมาบอก ธนาธร วันนั้น ธนาธรกับภรรยาก็เลยไปปารีสด้วยกัน ก็ไปตกลงซื้อ และต่อรองราคากันไปกันมา โดยเสนอว่า ให้คุณยายอยู่ต่อได้ ทำไมต้องรีบเสนอราคาก่อน เพราะตอนนั้นมีเจ้าของโครงการคอนโด-อพาร์ตเมนต์ อยู่ด้านขาวและซ้าย ของบ้านหลังนี้ ซึ่งเขาต้องการซื้อบ้านหลังนี้ แล้วจะทุบทิ้งเพื่อขึ้นคอนโด
ซึ่ง คุณไรท์ พูดมาคำหนึ่งว่า ตอนที่ อ.ปรีดี เสียชีวิต และท่านผู้หญิงพูนศุขจะขายบ้าน เคยบอกกับคนเวียดนามที่จะซื้อต่อไปว่า “ถ้าวันข้างหน้าคิดจะขาย ลองถามคนไทยก่อน” เมื่อไปก็ต่อรองราคา ตอนแรกจะของ 1.4 ล้านยูโร ผู้ขายไม่ยอม เพราะคอนโดให้ราคา 1.6 ล้านยูโร ถ้าขายให้ไปก็ขาดทุน
และจบที่ 1.6 ล้านยูโร เลยเตรียมสัญญาจะซื้อจะขาย โดยการซื้อขายที่ฝรั่งเศสนั้นต้องทำผ่านหน่วยงานหนึ่ง โดยเขาไปถามคุณยาย ซึ่งคุณยายก็ตอบผิดๆ ถูกๆ ทางนั้นเลยขายให้ไม่ได้ บอกว่าต้องไปตั้งผู้ปกครอง เพื่อให้ทำการขาย สุดท้ายวันนั้นก็ไม่ได้เซ็นสัญญาจะซื้อจะขาย คว้าน้ำเหลวกลับบ้าน
1 เดือนถัดมา คุณยายเสียชีวิต บ้านหลังนี้ตกอยู่ที่น้องชาย น้องชายคุณยายเลยจัดการแทน ก็เลยได้เรียบร้อย รอบนี้ก็บินไปเซ็น ภรรยาคุณธนาธรไปเซ็นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ซื้อมาเรียบร้อยในราคา 1.6 ล้านยูโร (ราว 63,788,000 บาท)
เรื่องนี้ต้องนับถือคุณธนาธร เพราะเขาซื้อมาก็ทำอะไรไม่ได้ แต่เขายอมเสียเงินก้อนนี้เพื่อเก็บประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของประเทศไทยเอาไว้
แล้วจะมีโอกาสที่จะเปิดให้คนไทยเข้าชมหรือเปล่านั้น จากที่คุยกันเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนพนมยงค์ เพราะ อ.ปรีดี ก็เกิดและตายเดือนนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุขก็เกิดเดือนนี้ เราก็คิดอ่านกันว่า ไปแถลงข่าวกันที่บ้านอองโตนี และเชิญผู้อาวุโสที่เคยมีประวัติศาสตร์อยู่ที่นี่ นั่นก็คือ ทายาทตระกูลพนมยงค์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เคยเจอ อ.ปรีดี ที่บ้านหลังนี้ไป ซึ่งทั้งหมดตอบรับว่าจะไปด้วย
หลังจากนั้นเชื่อว่า พี่น้องชาวไทยที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากที่ไปเที่ยวปารีส อาจจะเป็นหมุดหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวแวะมา