หน้าแรกการเมือง'ธนาธร'โพสต์วันผู้ลี้ภัยโลก ขอสังคมอย่าคับแคบเห็นแก่ตัว!!ถามรัฐเหตุใดขัดขวางให้ที่พักพิงชั่วคราว

‘ธนาธร’โพสต์วันผู้ลี้ภัยโลก ขอสังคมอย่าคับแคบเห็นแก่ตัว!!ถามรัฐเหตุใดขัดขวางให้ที่พักพิงชั่วคราว

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประะธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก วันที่ 20 มิถุนายน โดยระบุข้อความว่า เปลี่ยนวิกฤตที่มองไม่เห็น ให้เป็นความโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก วันที่ 20 มิถุนายน ผมได้มีโอกาสเล่าเรื่องของผู้ลี้ภัยในการปาฐกถาเปิดกิจกรรม “วิกฤตที่มองไม่เห็น:สถานการณ์ผู้หนีภัยชายแดนไทย-เมียนมา หลังรัฐประหาร” ที่จัดขึ้นที่ตึกกิจกรรม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
โดยเฉพาะในมุมที่เรามักละเลยไปหรือมีความรับรู้อย่างจำกัด นั่นคือเรื่องราวที่อยู่ติดพรมแดนฝั่งตะวันตกของเราเอง หรือกรณีผู้หนีภัยและผู้ลี้ภัยจากเมียนมา เนื่องด้วยสถานการณ์การรัฐประหารและสงครามภายในประเทศเมียนมาในรอบปีที่ผ่านมา ทำไมผมและคณะก้าวหน้าต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้? แน่นอนว่าที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เราพูดถึงเรื่องนี้ หลายๆ คนที่มักจะพูดหรือมองผู้ลี้ภัยจากเมียนมาด้วยทัศนคติเชิงลบ ก็มักจะท้วงติงเรามาเสมอ
.
ในปาฐกถาวันนี้ ผมเริ่มต้นด้วยการชวนให้ทุกคนคิดตาม ว่าสมมติว่าบ้านเมืองของท่านเกิดสงคราม มีคนมากล่าวหาว่าเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาและศรัทธาที่ท่านนับถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมที่ท่านอยู่ เกิดการกดดันตีตราว่าพวกท่านคือเสนียดส่วนเกินของสังคมนี้
.
เวลาล่วงเลยไป เกิดการใช้ความรุนแรง เผารถ ข่มขู่ลูกของท่านที่โรงเรียน เอาสีไปป้ายหน้าบ้านท่าน เอาโคตรเหง้าของท่านมาล้อเลียน วันหนึ่งลูกของท่านและพ่อแม่ของท่านโดนทำร้ายระหว่างอยู่นอกบ้าน จนถึงจุดหนึ่งเพื่อนบ้านของท่านเริ่มอพยพ ใครมีฐานะก็หนีไปต่างประเทศ ส่วนท่านผู้ไม่มีฐานะ ไม่มีทางเลือก ได้แต่อยู่รอจนสถานการณ์รุนแรงขึ้น จนเริ่มมีการเข่นฆ่าอย่างเป็นระบบ ท่านจึงตัดสินใจหนีออกมา
.
เป็นท่านจะทำอย่างไร? สิ่งที่ทำได้มากที่สุด ก็มีเพียงการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน และหวังว่าประเทศเพื่อนบ้านจะปฏิบัติต่อท่านอย่างมีมนุษยธรรม เรื่องที่ผมสมมุติมานี้ คือเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้นจริง แม้ว่าเราจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว ไม่ต้องไปไกลถึงยุโรป ที่พรมแดนฝั่งตะวันตกของเรามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่คนไทยน้อยคนนักที่จะรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
.
หลังเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา ซึ่งตามมาด้วยการปะทะสู้รบและการโจมตีทางอากาศหลายต่อหลายระลอกในรอบปีที่ผ่านมา ผู้หนีภัยและผู้ลี้ภัยหลายคน ได้พยายามข้ามพรมแดนมาหาที่พักพิงชั่วคราว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาเหล่านั้นถูกผลักกลับไปเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง พวกเขาต้องอาศัยพักพิงอยู่ตามแนวพรมแดนในฝั่งประเทศเมียนมา อยู่ตามป่าตามเขา มีเพียงเพิงพักพิงที่ทำจากวัสดุเท่าที่หาได้ตามยถากรรม โดยเข้าไม่ถึงอาหาร น้ำสะอาด และยารักษาโรค
.
เมื่อต้นเดือน องค์กรสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานจำนวนผู้หนีภัยและผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งในเมียนมา ว่าปัจจุบันมีถึง 1.038 ล้านคนแล้ว ในจำนวนนี้อพยพไปอยู่ต่างประเทศกว่า 980,000 คน โดยอยู่ในประเทศไทยถึง 96,000 คน ปัจจุบันการช่วยเหลือพวกเขาจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก การสกัดขัดขวางเกิดขึ้นตลอดเวลาจากเจ้าหน้าที่ในฝั่งไทย โดยเฉพาะกองทัพ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการตัดสินใจเกี่ยวกับผู้หนีภัยเหล่านี้
.
ปัญหาสำคัญเฉพาะหน้าที่ผู้หนีภัยต้องประสบวันนี้ คือการเข้าถึงความช่วยเหลือ ที่องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรมีทุนทรัพย์และทรัพยากรมหาศาลอยู่แล้ว ในการเข้ามาทำหน้าที่ของเขา โดยที่ประเทศไทยแทบจะไม่ต้องเสียทรัพยากรอันใดเลย แล้วเหตุใดการให้ที่พักพิงแก่พวกเขาเพียงชั่วคราว จึงต้องถูกสกัดขัดขวางโดยรัฐไทย
.
มินอ่องหล่ายน์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับหนังสือพิมพ์นิกเคอิ ระบุว่าหากนายกรัฐมนตรีไทยไม่ใช่ประยุทธ์ เขาคงจะไม่ตัดสินใจทำรัฐประหาร นั่นแปลว่ามินอ่องหล่ายน์ ไว้วางใจเป็นอย่างมาก ว่าหากมีเพื่อนบ้านอย่างประยุทธ์ ประเทศไทยจะไม่รับผู้ลี้ภัย ที่รวมถึงศัตรูทางการเมืองของเขาเอาไว้อย่างแน่นอน และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ก็เป็นไปดั่งความหวังตั้งใจของเขา
.
มาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงจะมีคำถามขึ้นมา ว่าแล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือผู้หนีภัยและผู้ลี้ภัยเหล่านี้ แน่นอนว่าขั้นน้อยที่สุดคือการบริจาค บรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าให้แก่พวกเขา แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรณรงค์ทางการเมือง ให้ประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายเป็นการโอบรับผู้ลี้ภัย รวมถึงการปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ
.
สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้คือพลังของสังคม อย่าเชื่อว่าเราตัวคนเดียวทำอะไรไม่ได้ การรณรงค์มีความหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลได้ เราอยากเห็นประเทศไทยที่ไม่สนใจโลก เอาแต่พวกเราเองรอดก็เพียงพอแล้วหรือ? หรือเราอยากเห็นประเทศไทยที่คำว่าโอบอ้อมอารีไม่ใช่แค่คำขวัญแต่เป็นการปฏิบัติจริง ประเทศไทยที่กระตือรือร้น และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่มีลักษณะข้ามพรมแดน
.
เราอยากภูมิใจในความเป็นไทยแบบไหนกัน ระหว่างความเป็นไทยที่คับแคบเห็นแก่ตัว หรือความเป็นไทยที่พร้อมหยิบยื่นมือให้ความช่วยเหลือ เคียงข้างผู้ทุกข์ยากในวันที่เขามีปัญหา ยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างสง่างาม กระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาไปพร้อมกับประชาคมโลก เป็นผู้นำอาเซียนด้วยการยึดถือจุดยืนเหล่านี้ เป็นเสาหลักที่มั่นคงของประชาคมโลกและประชาธิปไตย?
.
อย่าเชื่อว่าเราไม่มีพลัง การสร้างความตระหนักรู้เพื่อมาต่อสู้กับความเพิกเฉยของสังคมไทย มีความสำคัญเป็นอย่างมาก การสังคมสงเคราะห์เป็นสิ่งที่จำเป็นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเราต้องการกฎหมายและค่านิยมของสังคมที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก
.

ThePOINT #ข่าวการเมือง #ธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ #คณะก้าวหน้า #วันผู้ลี้ภัยโลก

Must Read

Related News

- Advertisement -