ประเทศไทยฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหม่มาหลายครั้ง แต่ในสมัยก่อนนั้นมีขุนคลัง หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้กอบกู้วิกฤตให้ประเทศไทยจนผ่านไปได้ด้วยดี ผลงานอันโดดเด่นจนจนได้รับรางวัล “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโลก” หรือ Finance Minister of the Year ถึง 2 คน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโลก คนแรกของไทย คือ นายกรณ์ จาติกวณิช โดยได้รางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโลกแห่งปี 2010 ควบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชียแห่งปี 2010 ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีการคลังในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จาก พรรคประชาธิปัตย์
ประวัติคร่าวๆนั้น หลังจบการศึกษา เริ่มทำงานที่อังกฤษ ที่บริษัทจัดการกองทุน บริษัท เอส จี วอร์เบิร์ก 3 ปี และเดินทางกลับประเทศไทยตอนอายุ 23 ปี ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด ในปี 2531 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท สามารถทำให้ บล. เจ.เอฟ. ธนาคม ขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจหลักทรัพย์ และผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 มาได้ ท่ามกลางการล้มระเนระนาดของสถาบันการเงินในไทย
ในปี 2542 ได้ขายหุ้น บล. เจ.เอฟ. ธนาคม ให้ เจพีมอร์แกนเชส และยังบริหารต่อในตำแหน่งประธานบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) จำกัด ดูแลธุรกิจทางด้านธนาคารและการบริหารความเสี่ยง และธุรกิจหลักทรัพย์ ก่อนที่จะขายธุรกิจหลักทรัพย์ (กลุ่มลูกค้ารายย่อย) ให้กลุ่มธนาคารกรุงเทพ โดยบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน เหลือธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์ เฉพาะลูกค้าสถาบัน
ปี 2547 ลาออกจากบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) เพื่อลงสู่สนามการเมือง จากการทาบทาม ของเพื่อนนักเรียนอังกฤษ แต่เป็นรุ่นพี่ทางการเมืองอย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
หากย้อนไปดูประวัติจะพบว่า “กรณ์” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปี 2549 เมื่อมีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตร ก่อนจะนำไปสู่คำพิพากษายึดทรัพย์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ปี 2550 แม้ “กรณ์” ได้เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็ได้แสดงฝีมือทางเศรษฐกิจ ตามกลยุทธ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร ที่จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงาขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ โดย “กรณ์” ในฐานะแกนนำทีมเศรษฐกิจ ได้รับเลือกทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา
ต่อมาปี 2551 พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 “กรณ์” ก็ได้เก้าอี้ “ขุนคลัง” ตัวจริงมาครอบครองในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และในช่วงปี 2551-2553 ไทยประสบกับ “วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์” ที่ลุกลามมาจากสหรัฐอเมริกา “กรณ์” ก็ได้โชว์ศักยภาพด้วยมาตรการ “ไทยเข้มแข็ง” ทำให้ไทยฟื้นจากวิกฤตเร็วเป็นอันดับ 2 ของโลก
ดัชนีการฟื้นจากวิกฤต ที่ “กรณ์” มักจะเล่าเสมอ คือ การพลิกตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากติดลบสองหลัก เป็นบวก 7.8% ภาคการส่งออกเติบโตก้าวกระโดด 28.5%
ข้อมูลเพิ่มเติมรายงานว่า กรณ์ ลงสนามการเมืองครั้งแรก ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เขต 7 ยานนาวา กทม. ด้วยคะแนนเสียง 36,010 คะแนน และเป็น 1 ใน 4 ของ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และได้เป็น ส.ส.ต่อเนื่องอีก 4 สมัย ในปี 2548, 2550, 2554 และ 2562
แต่ในปี 15 ม.ค. 2563 ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะยื่นลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.ตามมา โดยได้ออกมาปลุกปั้นพรรคใหม่อย่าง “พรรคกล้า” ร่วมกับ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน และได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคในปี 1 ก.ย. 2565 เพื่อเข้าร่วมพรรคชาติพัฒนากล้า และได้ลาออกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในวันที่ 25 มิ.ย. 2566
ต่อมาหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลของไทย จนมาถึงยุคสมัย ‘รัฐบาลประยุทธ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และได้รางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโลก ในปี 2023 ที่พาประเทศผ่านวิกฤตโดยการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาทิ มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ผ่านมาตรการทางภาษีต่าง ๆ โดยภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐกิจไทยได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ทั้งนี้ประวัติการทำงานของ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เกิดวันที่ 25 กันยายน 2499 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปี 2520) และจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยวิลเลียมส์ สหรัฐอมเริกา (ปี 2526)
โดยอาคมเข้ารับราชการในส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจในปี 2539-2542 ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยชาญด้านนโยบายและแผนในปี 2542-2543
หลังจากนั้นปี 2543-2546 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ สศช. และปี 2547 ขึ้นเป็นรองเลขาธิการ สศช. ขณะที่ปี 2553-2558 ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สศช. ลำดับที่ 14 โดยที่ปี 2557 ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในปี 2558-2562
ประวัติส่วนตัวนั้นพบว่า สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 และระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยวิลเลียม ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2526
ถึงแม้พ้นตำแหน่งไปแล้วแล้ว แต่ยังได้ร่วมปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีในหลายครั้ง ในหลายรูปแบบ สามารถตอบสนองและเติมเต็มในการตัดสินใจในหลายโครงการ
“อาคม” มีสไตล์การทำงานที่หามรุ่ง-หามค่ำ ตอบทุกคำถามของนายกรัฐมนตรีและคณะได้ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งรูปแบบข้อมูลดิบ อินโฟกราฟิก หรือพาวเวอร์พอยต์ ที่เข้าใจง่าย เป็นระบบ-ระเบียบ
ทั้งเมนูแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งระยะสั้น-ยาว แนวทางการวิเคราะห์โครงการของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน “อาคม” มักเตรียมข้อมูลและทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจไม่พลาดทิศ แม้อาจจะล่าช้าไม่ทันใจฝ่ายการเมืองนัก
“อาคม” มีคุณสมบัติสำคัญตรงกับที่นายกรัฐมนตรี เปิดเผยเป็นญัตติสาธารณะ อย่างน้อยก็ 1 ข้อ คือ “เป็นคนที่ที่บ้านไม่ห่วงเกินไปมากนัก” เพราะเขาครองตัวเป็นโสดหลังจากภรรยาเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน
เมื่อปี 2560 “นายอาคม” เปิดเผยถึง 3 หลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เขายึดเป็นแรงบันดาลใจรวมถึงเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตและทำงานในชีวิตมาโดยตลอด คือ
“การปิดทองหลังพระ ทำงานไม่จำเป็นต้องออกหน้า ถ้าคิดว่างานที่เราทำเป็นประโยชน์ส่วนรวมอยู่เบื้องหลัง เป็นฟันเฟืองของกลไกทั้งหมด ถ้าฟันเฟืองเล็กไม่เดิน ฟันเฟืองใหญ่ก็ไปไม่ได้”
“ความเพียรพยายาม แม้ว่างานจะยากแค่ไหนก็ต้องทำ เมื่อเราเห็นเป้าหมาย ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้ หรืออยู่ไกล ถ้าไม่มีความพยายามในการฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ก็ทำไม่สำเร็จ”
“ความเรียบง่าย ได้จากพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่าน สอนให้คนรู้จักประหยัด ใช้ในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย ความเรียบง่าย ชีวิตพระองค์ท่านเหมือนคนธรรมดา เราเองต้องทำตัวไม่มียศ ไม่มีศักดิ์ ทำงานให้ติดดิน”