ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะทำงานด้านนโยบายของพรรคในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า ผมขอเสนอ “Bangkok Low Emission Zone”ประกาศ “กำหนดเขตมลพิษต่ำ” ลดควันดำกรุงเทพชั้นใน ได้อากาศสะอาดคืนมา ผมเชื่อว่า นี่คือ “เป้าหมาย” และ “วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม” ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้ เพราะกรุงเทพมีความหนาแน่นขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และ มลพิษทางอากาศก็ตามมา โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพลเมือง
.
เมืองที่สู้จนชนะสงครามกับฝุ่นพิษ เน้นควบคุมต้นกำเนิดของ PM 2.5 ในตัวเมือง หนึ่งในวิธีนั้นคือ “การกำหนดพื้นที่เขตมลพิษต่ำ” หรือ Low Emission Zone (LEZ) นั้นเอง หนึ่งในเมืองต้นแบบที่นำวิธีการนี้มาใช้ จนประสบความสำเร็จ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ “กรุงลอนดอน” ประเทศอังกฤษ ที่วันนี้ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่เหตุการณ์ วิกฤตหมอกควัน จนตอนนี้กลับกลายเป็นเมืองที่อากาศสะอาดกว่ากรุงเทพไปแล้ว
.
“เขตมลพิษต่ำ” เป็นการประกาศพื้นที่ในการควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง เสมือนพื้นที่สนามรบที่เราจะต้องเอาชนะ ขับไล่ PM 2.5 ยึดคืนอากาศสะอาดกลับคืนมาให้ได้
.
การประกาศ “เขตมลพิษต่ำ” ในกรุงลอนดอน ทำให้สามารถจำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงที่จะเข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกเก่าควันดำ รถเมล์ควันโขมง หรือรถอื่น ๆ ที่ปล่อยมลพิษอันตรายน่ากลัว โดยจะมีการมีกำหนดอัตราค่าธรรมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด ยิ่งรถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี ขับได้ตามปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ทำให้ลอนดอนลดมลพิษจากท้องถนนได้
.
รวมทั้งควบคุมการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ ขณะที่ให้ประโยชน์ทางภาษีแก่โครงการก่อสร้างที่ป้องกันฝุ่น หรือ “ทำดีต้องได้ดี ทำไม่ดีก็ต้องถูกปรับ” ยุติธรรม
.
รู้หรือไม่ ปัจจุบันกรุงลอนดอนมีการกำหนด Ultra Low Emission Zone (ULEZ) “เขตมลพิษต่ำพิเศษ” ที่ใช้พื้นที่ 1 ใน 4 ของกรุงลอนดอนที่มีผู้อาศัยอยู่กว่า 3.8 ล้านคน โดยพื้นที่นี้จะมีความเข้มงวดและมีมาตรฐานสูงกว่าเขตมลพิษต่ำแบบทั่วไป
.
สำหรับกรุงเทพมหานคร ผมขอเสนอให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone” หรือ “B-LEZ” (บีเลส) นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้ครับ
.
ทำไมต้อง 16 เขต กรุงเทพชั้นใน?
- เขตชั้นในนี้ มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน ที่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก
- พื้นที่นี้มีการก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพ
- พื้นที่นี้อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากว่าพื้นที่อื่น
เมื่อ PM2.5 คือ อันตรายตายจริง และขอย้ำ “ปล่อยฝุ่นว่าโหดร้าย ปล่อยไว้โหดยิ่งกว่า” หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แสดงว่าเราไม่ได้ห่วงลูกหลานเลย จริงไหมครับ?
.