ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ว่า หลักการสื่อสารในภาวะวิกฤตอย่างมืออาชีพ (โดยเฉพาะครั้งแรกที่ออกมาชี้แจง) คือ
- สื่อสาร (โพสต์/พูด) ให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด (เพราะอาจผิดพลาดได้)
- เลือกใช้คำให้เป็นกลางที่สุด ระมัดระวังทุกคำว่าจะนำไปตีความในทางลบได้อย่างไรบ้าง
- หลีกเลี่ยงการพาดพิงผู้อื่น โดยเฉพาะการกล่าวโทษผู้อื่น
- คิดถึง และสื่อสารถึง “ผู้ได้รับผลกระทบ” “ก่อน” และ “มากกว่า” ตัวเองเสมอ
- หากมีหลักฐานชัดเจนว่าเราผิด อาจจำเป็นต้องขอโทษ และหากตัดสินใจจะขอโทษ ต้องขอโทษให้รู้สึกถึงความจริงใจ ความสำนึกผิด การขอโทษแบบ “ขอไปที” หรือไม่จริงใจ จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง
- เมื่อสื่อสารออกไปแล้ว ควรอยู่นิ่ง ไม่ควรให้สัมภาษณ์หรือสื่อสารต่อหรือทำอะไรให้เป็นข่าวอีก เพราะจะเป็นการเติมเชื้อไฟให้ปะทุขึ้นมา ยกเว้นว่าจะมีข้อมูลใหม่ที่เป็นประโยชน์กับเรา ซึ่งอาจให้ผู้อื่น (เช่นตัวแทน หรือสื่อ) เป็นผู้สื่อสารให้แทน
.