หน้าแรกเศรษฐกิจ'จุรินทร์'เผยส่งออกไทยเดือน ธ.ค.65 ติดลบ!!14.6% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติด หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

‘จุรินทร์’เผยส่งออกไทยเดือน ธ.ค.65 ติดลบ!!14.6% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติด หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ธ.ค.2565 และทั้งปี 2565 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ธ.ค.2565 มีมูลค่า 21,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 22,752.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ธ.ค.2565 ไทยขาดดุลการค้า 1,033.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
นายจุรินทร์ ระบุว่า หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยในเดือน ธ.ค.2565 หดตัวที่ -12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกไทยในเดือน ธ.ค.2565 ที่หดตัว -14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น เป็นตัวเลขการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แล้ว หลังจากในเดือน ต.ค.2565 การส่งออกไทยหดตัว -4.4% และเดือน พ.ย.2565 การส่งออกหดตัว -6%
.
นายจุรินทร์ ระบุอีกว่า สำหรับภาพรวมทั้งปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.2565) นั้น การส่งออกไทย มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 287,067.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหรือปี 2564 และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวได้ที่ 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 303,190.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 2565 ไทยขาดดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 16,122.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกปี 2565 ยังเป็นบวก 5.5% ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติหลายวิกฤติที่เราต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ปัญหาโควิดก็ยังค้างคามาช่วงเวลาหนึ่ง รวมทั้งปัญหาอื่นๆอีกหลายปัญหา ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าที่เรากำหนดไว้ที่ 4% โดยสามารถสร้างเงินเข้าประเทศเกือบ 9.94 ล้านล้านบาท
.
นายจุรินทร์ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกทั้งปี 2565 ขยายตัวได้ที่ระดับ 5.5% ได้แก่ 1.ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึกในตลาดใหม่ รวมทั้งตลาดที่มีศักยภาพสูง 2.การผลักดันให้ประเทศเพื่อนบ้านเร่งกลับมาเปิดด่านชายแดน 3.การเร่งหาแหล่งสำรองอาหารจากผู้ซื้อทั่วโลก 4.ปัญหาโลจิสติกส์คลี่คลาย และค่าระวางเรือลดลงต่อเนื่อง
.
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 2566 นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เป็นต้น โดยที่ประชุมได้ประเมินตัวเลขการส่งออกร่วมกันในนาม กรอ.พาณิชย์ และตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกในปี 2566 จะขยายตัวที่ระดับ 1-2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายในปี 2565 ที่ตั้งไว้ที่ 4%
.
ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2566 มีปัจจัยทางลบที่เป็นแรงเสียดทานต่อการส่งออกไทยหลายปัจจัย ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นตลาดหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพียง 0.5-1% หรือสหภาพยุโรปที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0-0.5% ส่วนญี่ปุ่นคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.6% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน

2.มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาส 1/2566 ประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยยังคงมีสต๊อกสินค้าอยู่ จึงอาจชะลอการสั่งซื้อสินค้าหรือนำเข้าได้ 3.ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและยังไม่มีแนวโน้มลดลงนั้น ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในภาคการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยลดลง และ 4.ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากขึ้น
.
ส่วนปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าไทยในปี 2566 ได้แก่ ระบบการขนส่งสินค้าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ค่าระวางเรือปรับลดลงและมีเสถียรภาพ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลายแล้ว 2.ความต้องการอาหารของโลกยังคงมีอยู่ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกอาหารของไทยในปีนี้ 3.ตลาดที่มีศักยภาพบางตลาด ยังคงมีศักยภาพที่จะรองรับการส่งออกสินค้าของไทยได้ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV และตลาดจีน เป็นต้น
.

ThePoint #ข่าวเศรษฐกิจ #จุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ #พาณิชย์ #การค้าระหว่างประเทศ #ส่งออก

Must Read

Related News

- Advertisement -