หน้าแรกสังคมจำใจปิด!รร.เอกชน สู้พิษโควิดไม่ไหว ครูตกงาน-นร.หาที่เรียนใหม่กลางคัน

จำใจปิด!รร.เอกชน สู้พิษโควิดไม่ไหว ครูตกงาน-นร.หาที่เรียนใหม่กลางคัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องข้ามปี เพราะรายได้หดหายและแบกภาระต้นทุนไม่ไหว ซึ่งไม่เพียงแค่ผู้ประกอบการด้านธุรกิจเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ แต่ในด้านการศึกษาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากการการประกาศพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้โรงเรียนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ออนแอร์ ออนดีมานด์ หรือ ออนแฮนด์ เท่านั้น เมื่อนักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน ขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนได้รับผลกระทบด้านรายได้ เป็นเหตุผลให้ไม่มีเงินจ่ายค่าบำรุงการศึกษา ทำให้โรงเรียนเอกชนสายสามัญหลายแห่งขาดทุนสะสม ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งต้องปิดตัว เลิกกิจการ
.
นางนวลละออ สาครนาวิน ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนนวลวรรณศึกษา ในเขตพระโขนง กรุงเทพฯ ซึ่งทำการสอนระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ระบุว่า ตั้งแต่เปิดโรงเรียนร่วม 30 ปี ไม่เคยมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน กระทั่งเกิดการระบาดโควิด-19 โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า ปีการศึกษา 2562 ก่อนระบาด ผู้ปกครองยังจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ 5,340,913 บาท จากยอดเต็ม 6,517,617 บาทคิดเป็นร้อยละ 81.95
ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ยอดเต็มอยู่ที่ 3,095,083.25 บาท เก็บได้จริงเพียง 352,900 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.40 ยังมียอดค้างจ่าย 2,742,183.25 บาท ทบกับปีที่แล้วอีก 1,666,460 บาท ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องทางการเงินต่อเนื่อง
.
นางนวลละออ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ เนื่องจากโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายประจำ คือ เงินเดือนครู ซึ่งแต่ละเดือนได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียน 70% จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉลี่ยเดือนละ 208,292.37 บาท แต่โรงเรียนมีภาระจ่ายเงินเดือนครูเฉลี่ยเดือนละ 295,976.33 บาท ยังไม่รวมเงินเดือนบุคลากร ค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษาสถานที่ รวมกันมากกว่าเดือนละ 100,000 บาท เมื่อผู้ปกครองไม่ได้ร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาคิดเป็นสัดส่วน 30% ทำให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลไม่เพียงพอให้โรงเรียนพยุงการศึกษาต่อไปได้
.
“อยากให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนเอกชนสายป่านธุรกิจสั้น สามารถดำเนินกิจการให้การศึกษาต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นสิ้นเดือนสิงหาคมนี้คงต้องปิดกิจการ ทำให้ครูและบุคลากรร่วม 30 คนตกงาน ขณะที่นักเรียน 216 คน ต้องหาโรงเรียนใหม่”นางนวลละออ ระบุ
.

ThePOINT #ข่าวสังคม #โรงเรียน #โรงเรียนเอกชน #โควิด #ปิดกิจการ #กระทรวงศึกษาธิการ

Must Read

Related News

- Advertisement -