ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ระบุว่า ตามที่มีมติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบการปรับอัตราค่าบริการไปรษณียภัณฑ์ ตามร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรนั้น ถือเป็นการปรับอัตราค่าบริการครั้งแรกในรอบ 18 ปี ของการดำเนินงานของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นเพียงการขึ้นราคาเฉพาะการส่งจดหมายและเอกสารสำคัญ และจะปรับเฉพาะบริการจดหมายในประเทศเท่านั้น
.
ทั้งนี้อัตราค่าบริการพิกัดแรก น้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม ซึ่งเป็นพิกัดน้ำหนักที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้บริการ ยังคงไว้ที่ 3 บาทเช่นเดิม ส่วนเอกสารหรือจดหมายที่มีน้ำหนักเกินจากที่กำหนดจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจและการแบกรับต้นทุน นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ภาคธุรกิจซึ่งฝากส่งเอกสารและจดหมายกับไปรษณีย์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง หรือการส่งปริมาณมากๆ จะมีการมอบส่วนลดในอัตราพิเศษ
.
อย่างไรก็ตาม รายได้ของไปรษณีย์ไทยลดลงต่อเนื่อง โดยงบการเงินปี 2563 มีรายได้ 24,210.95 ล้านบาท และกำไรสุทธิเหลือ 385.35 ล้านบาท โดยรายได้ลดลงราว 10% แต่กำไรสุทธิลดลงกว่า 40% ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งต้นทุนจริงจากการอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ ปัจจุบันปรับสูงขึ้นร้อยละ 38.46 จากปี 2547 พบว่าในปี 2562 อัตราค่าบริการจดหมายในประเทศที่ควรจะเป็นคือ 4.13 บาทต่อฉบับ แต่ยังคงให้บริการในอัตราเริ่มต้นที่ 3 บาท
.
การปรับอัตราไปรษณียากรสำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศใหม่ จะแบ่งเป็น เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก (พ.ศ. 2565 – 2567) จดหมาย ประเภทซอง ยังคงอัตราค่าบริการพิกัดน้ำหนักแรกไว้ที่ 3 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม ส่วนจดหมาย ประเภทหีบห่อ มีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 30 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 55 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม
.
ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จดหมายประเภทซอง จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 4 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม ส่วนจดหมายประเภทหีบห่อ จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 34 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม
.
- Advertisement -