เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นักวิชาการ และคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ยืนยันว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าเช่นเดิม แต่จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพิจารณาในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล วันที่ 12 ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน วันที่ 24 ต.ค.นี้ “รัฐบาลพร้อมนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับปรุงให้เกิดความสมดุล เช่น เงื่อนไขรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร (กม.) ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน อาจครอบคลุมรัศมีในตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด ส่วนกลุ่มเป้าหมาย อาจพิจารณาปรับ แต่ต้องไม่กระทบวัตถุประสงค์โครงการ เชื่อว่าคนรวยสุดไม่เข้าร่วมโครงการนี้”
สำหรับเหตุผลของการเดินหน้าโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโต 5% เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการจ้างงาน และการลงทุน รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ เพิ่มขึ้น และสุดท้ายสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ จะมาจากหลายแหล่ง ทั้งการรีดไขมันส่วนเกินจากเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการ การใช้เงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และอื่นๆ ซึ่งจะดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอแนะให้รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลเฉพาะกลุ่ม และแบ่งช่วงเวลาการแจกเงิน เพราะจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ตลอดปี หรือใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่า 100,000 ล้านบาทเสนอให้เอาไปใช้บริหารจัดการน้ำ เพราะปีหน้าภัยแล้งอาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนกว่าการแจกเงิน รวมถึงเสนอให้สนับสนุนใช้สินค้าผลิตในประเทศ
เงินจะหมุนได้หลายรอบ และใช้ซื้อของสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความยั่งยืนของครัวเรือน และลดหนี้ครัวเรือนได้