เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงตอบโต้นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ระบุว่ารัฐบาลยังไม่ได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการนำเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ส..)มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ทำไมจึงดำเนินการล่าช้า จากการที่ตนศึกษากฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับธ.ก.ส. การที่ธ.ก.ส.จะนำออกเงินทดลอง เพื่อแจกในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต จำนวน 170,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อขายสินค้าทั่วไปตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้นั้น เป็นการขัดพ.ร.บ.ธ.ก.ส. พ.ศ.2509 และฉบับที่แก้ไขต่อมาอย่างแน่นอน โดยยังไม่ต้องไปดูกฎหมายฉบับอื่น ไม่ว่าจะในเรื่องวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธ.ก.ส. หรือ วัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของธ.ก.ส.ตามมาตรา 9 ที่มีวัตถุประสงค์อยู่ทั้งหมด 17 ข้อ ไม่ว่าจะเรื่องอำนาจหน้าที่ของตัวธนาคารตามมาตรา 10 ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 และไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการธกส.หรือบอร์ดธกส.ตามมาตรา 18 ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่ไม่ได้ให้อำนาจแก่บอร์ดธกส. ในการลงมติอนุมัติให้ธ.ก.ส.
“การทดลองนำเงินไปใช้แจกโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เงินของธกส.จะต้องนำไป เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรหรือส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร หากรัฐบาลจะอ้างมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาให้ธ.ก.ส.แจกเงินให้ได้ มาตรา 28 ก็ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการที่หน่วยงานของรัฐจะทำตามที่ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้น กรณีนี้ก็คือธ.ก.ส.นั่นเอง
ขอเตือนไปถึงบอร์ดธ.ก.ส. ว่าหากลงมติให้นำเงินธ.ก.ส.ไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยไม่ได้จำกัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร คือเพื่อไปพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตร หรือเพื่อส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร บอร์ดทุกคนที่ยกมือลงมติเห็นชอบสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย บอร์ดธ.ก.ส.ไม่สามารถอ้างได้ว่าทำตามมติครม. เพราะมติครม.ไม่ใช่กฎหมาย แต่หากบอร์ดธ.ก.ส.จะลงมติให้ผู้รับเงินนำเงินที่ได้รับแจกจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไปใช้ได้เฉพาะเพื่อการเกษตรเช่นให้เกษตรกรที่เป็นชาวนาทั่วไป เอาไปซื้อปุ๋ย ก็จะเป็นการซ้ำซ้อนกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง” นายจุลพงศ์ กล่าว
เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.ธ.ก.ส. จะเป็นทางออกหรือไม่ นายจุลพงศ์ กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่เลือกใช้การแก้ไขกฎหมาย เพราะขณะนี้รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแล้ว หากเสนอกฎหมายให้รัฐสภาแก้ไข จะไม่ทันการแจกเงินไตรมาสสี่อย่างแน่นอน แต่หากจะเลือกใช้ การออกพระราชกำหนด(พรก.) เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ธกส.นั้น อาจติดเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ใช้เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนหรือมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
เมื่อถามย้ำว่าการใช้เงิน ธ.ก.ส. เพื่อแจกเงินดิจิทัลนั้น สุดท้ายจะทำไม่ได้ เพราะขัดกับกฎหมาย ใช่หรือไม่ นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ใช่ ทั้งนี้ต้องรอดูแนวทางของกระทรวงการคลังว่า จะดำเนินการอย่างไร เรื่องดังกล่าวอาจจะมีปัญหามากขึ้น หากประชาชนลงทะเบียนแล้วแจกเงินไม่ได้ จะเป็นปัญหาร้ายแรงกับรัฐบาลมากกว่า