หน้าแรกเศรษฐกิจ'กอบศักดิ์'ชี้อัดยาแรง!!กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้นเหตุสงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ

‘กอบศักดิ์’ชี้อัดยาแรง!!กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้นเหตุสงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่าความผิดพลาดที่แท้จริงของเฟด!!!ถ้าจะถามว่า “เรามาอยู่สถานการณ์นี้ได้อย่างไร” เราพลาดตรงไหน คำตอบคงต้องบอกว่า กระดุมเม็ดแรกที่ติดผิดไป ก็คือ”เราอ่านสถานการณ์โควิดผิด เมื่อ 2 ปีก่อน” ความผิดพลาดดังกล่าว ได้นำไปสู่การทำนโยบายที่ให้ยาแรงเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยความกลัวของทุกคนว่า เมื่อโควิด-19 กระจายไปที่ต่างๆ คนจะล้มตายเป็นจำนวนมาก และเศรษฐกิจจะต้องปิดตัวเป็นระยะเวลานาน เพื่อหยุดยั้งการระบาด
.
จนกระทั่ง หลายคนพูดกันไปว่า อาจเกิด Great Depression เหมือนช่วงปี 1929 ที่มีคนตกงาน 25% หรือ 1/4 และจะต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการแก้ไข ด้วยเหตุนี้ นโยบายการเงินของเฟด (และธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก) ตลอดจน นโยบายการคลังของสหรัฐ ต่างได้ช่วยกันอย่างสอดประสาน ในการเข้าดูแลเศรษฐกิจ กดดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน และสัญญาณที่ส่งว่าจะต่ำไปอีกนาน อัดฉีดสภาพคล่องจำนวน 5 ล้านล้านดอลลาร์สู่ระบบ เพิ่มมาตรการทางการคลังมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังท่านไบเดนชนะเลือกตั้ง
.
ทั้งหมดนี้ ต่างช่วยในการกระตุ้นดูแลเศรษฐกิจเป็นอย่างดียิ่ง แต่สิ่งที่ผิดคาด ก็คือ โควิดไม่ได้ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจอย่างที่คิด เมื่อผ่านช่วงปิดเมืองช่วงแรกไปได้เศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาขยับเขยื้อนได้ ยิ่งเมื่อมีวัคซีนอย่างรวดเร็วเพียง 8-9 เดือนหลังจากการเริ่มระบาด คนก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ต่างจากที่เคยกลัวกันไว้ เรียกว่า หนังคนละม้วน
.
เมื่อเป็นเช่นนี้ ยาแรงที่ใช้ไป ก็เลยเกินขนาด คนไข้ฟื้นก่อนคาด แต่ยากระตุ้นยังอยู่เต็มตัว ทั้งหมด จึงนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา ฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ จากเงินที่พิมพ์เข้าไป เศรษฐกิจที่ตึงตัวเป็นพิเศษ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation ของสหรัฐ ที่ได้หักเอาส่วนที่เป็นพลังงานและอาหารสดออกไปเรียบร้อยแล้ว
.
ซ้ำร้าย เมื่อเงินเฟ้อเริ่มผงกหัว และเริ่มขึ้นมา เฟดยังมองพลาดอีกครั้ง มองว่าเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว มาจากการดีดขึ้นมาของราคาต่างๆ หลังเศรษฐกิจฟื้น เป็นเพียงเรื่อง Supply Shocks เท่านั้น และคาดการณ์ต่อไปว่า เมื่อทุกอย่างเข้าที่เป็นปกติ เงินเฟ้อจะลดลงกลับไปที่ 2% ด้วยตัวมันเองในที่สุด แต่ความจริงที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง ที่คนไม่ค่อยจะพูดถึงกัน ก็คือ เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก “ยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด” เอง
.
จากดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ และจากการพิมพ์เงินอัดฉีดจำนวนมากไปในระบบ ทำให้เศรษฐกิจหรือคนไข้คึกคักเกินคาด ทำให้เกิดฟองสบู่ในที่ต่างๆ มากมาย สะสมเป็นปัญหา ยิ่งมีปัจจัยด้าน Supply เช่น ราคาน้ำมัน ราคา Commodities ขึ้นแรง ระหว่าง Post Pandemic Boom ซึ่งมองเห็นกันได้ง่ายกว่า จึงพากันเชื่อว่า เงินเฟ้อที่เกิด มาจาก Supply Shock แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
.
มองข้าม “ยาแรงของเฟด” ที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและยังไม่ได้ถอน ซึ่งกำลังทำงานอยู่อย่างเงียบๆ ด้านหลัง ในการก่อให้เกิดเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยกระดับของเงินเฟ้อพื้นฐานในระบบ ที่อาจจะไม่กลับปกติเป็น 2% ด้วยตัวของมันเอง พูดให้ชัดๆ เงินเฟ้อที่เรากำลังต่อสู้ ลึกๆ แล้ว มีต้นตอมาจากด้าน Demand เช่นกัน
.
การที่เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐสามารถขึ้นมาทะลุ 6% เทียบปีก่อนหน้า น่าจะทำให้เราเฉลียวใจว่า เงินเฟ้อบางส่วนไม่ได้มาจาก Supply shocks อย่างที่เฟดและทุกคนคิด แต่มาจากนโยบายสุดขั่วที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา !!!
.
การอ่านสถานการณ์ผิดเกี่ยวกับ (1) ที่มาของเงินเฟ้อ และ (2) แนวโน้มของเงินเฟ้อ ทำให้เฟดพลาดในเรื่องที่สอง คือ “การถอนยาช้า”เนื่องจากเฟดคิดว่า เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง Supply เป็นหลัก เฟดก็เลยคิดว่า สามารถชะลอการถอนยาไว้ได้อีกเล็กน้อย การถอนยาช้า ทำให้เงินเฟ้อสามารถฝังรากไปในระบบได้ลึกขึ้น และฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากยากระตุ้นขนานแรง จึงใหญ่เป็นพิเศษ
.
จึงกล่าวได้ว่า นอกจากเฟดจะใส่ยาแรงเกินต้องการแล้ว ยังถอนยาช้ากว่าที่ควรด้วย ความผิดพลาดทั้งสองเรื่อง กำลังนำไปสู่ “สงครามของเฟดกับเงินเฟ้อ” และ “สงครามของเฟดกับฟองสบู่” ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เพื่อสะสางปัญหา ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นแบบเกินคาดและลุกลามกว่าคิด ก็ได้ซ้ำเติม ทำให้การแก้ไขปัญหาของเฟดยากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกรอบ และยิ่งทำให้ทุกคนมองพลาดไปที่ Supply Factors มากยิ่งขึ้น
.
มาลุ้นกันครับว่า เฟดจะทำอะไรต่อไป ในการแก้ปัญหาที่ตนเองก่อไว้ (อย่างไม่ได้ตั้งใจ) เฟดจะต้องใช้ “ยาแรง” แค่ไหนในการถอน “ยาแรงขนานแรก” ที่ใส่ไปช่วงโควิด “ยาแรงของเฟด” ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เร่งถอนสภาพคล่อง จะนำไปสู่ความปั่นป่วน และสร้างความเสียหายตามมาอีกมากน้อยแค่ไหน ให้แก่นักลงทุน ระบบเศรษฐกิจ และ Emerging Markets สุดท้ายมาลุ้นกันว่า “เฟดจะพลาดแล้วพลาดอีก” หรือไม่ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ #ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ #ความผิดพลาดของเฟด
.

ThePOINT #ข่าวเศรษฐกิจ #กอบศักดิ์ภูตระกูล #เฟด #เงินเฟ้อ #มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Must Read

Related News

- Advertisement -