หน้าแรกเศรษฐกิจกองทุนน้ำมันเคว้ง!!สกนช. ขยายเวลาเปิดทางทุกแบงก์ยื่นปล่อยกู้กองทุนน้ำมันอุ้มวิกฤตพลังงาน หลังรอบแรกยังไม่มีผู้ให้กู้

กองทุนน้ำมันเคว้ง!!สกนช. ขยายเวลาเปิดทางทุกแบงก์ยื่นปล่อยกู้กองทุนน้ำมันอุ้มวิกฤตพลังงาน หลังรอบแรกยังไม่มีผู้ให้กู้

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ระบุว่า สกนช.ขยายเวลาเปิดให้สถาบันการเงินเสนอเงื่อนไขประมูลปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2 หมื่นล้านบาท ไปจนถึงวันที่ 21 มี.ค.นี้ จากเดิมที่เคยเปิดให้เสนอเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ซึ่งยังไม่มีผู้ให้กู้โดยมั่นใจว่าจะมีสถาบันการเงินมาเสนอหลังจากที่รัฐบาลตรึงราคาขายปลีกดีเซลและราคา LPG ไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายว่าจะได้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภายในเดือนเมษายน 2565 เเน่นอน
.
ทั้งนี้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2565 ติดลบ 32,831 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 4,028 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 28,803 ล้านบาท จำนวนเงินฝากที่กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินมีจำนวน 16,500 ล้านบาท สภาพคล่อง ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565 กลุ่มน้ำมันมีรายจ่ายวันละ 546.12 ล้านบาท กลุ่มก๊าซ LPG มีรายจ่ายวันละ 87.18 ล้านบาท
.
นายวิศักดิ์ ระบุว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีบทบาทหลักในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงที่เกิดวิกฤตด้านราคาพลังงาน โดยยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้าไปชดเชยเพื่อให้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับราคาไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในหลายด้าน โดยจะใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซ LPG ให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป โดยพิจารณาตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเดือนมีนาคม 2565 ยังคงมีความผันผวนเนื่องจากความขัดแย้งของรัสเชีย – ยูเครน ที่ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 111.15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาเบนซินอยู่ที่ 133.22 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาดีเซลอยู่ที่ 139.51 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
.
นายวิศักดิ์ ระบุอีกว่า ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 – 22 มีนาคม 2565 จำนวน 13 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีการปรับเพิ่มลดตามราคาน้ำมันที่ขึ้นลงเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร และค่าการตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.40 บาท/ลิตร
.
ล่าสุดวันที่ 22 มีนาคม 2565 อัตราชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 7.97 บาท/ลิตร ประกอบกับ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ทยอยปรับขึ้นราคา LPG 3 ครั้ง โดยปรับขึ้นเดือนละ 1 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ทำให้ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นเป็น 333 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม 1 พฤษภาคม 2565 ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นเป็น 348 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม และราคาขายปลีกจะปรับขึ้นเป็น 363 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม
.
จากปัจจุบันตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ซึ่งในการปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ครั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีรายจ่ายเพื่ออุดหนุนราคาขายปลีกโดยในเดือนเมษายน 2565 มีรายจ่ายประมาณ 2,418 ล้านบาท/เดือน เดือนพฤษภาคม 2565 มีรายจ่ายประมาณ 2,133 ล้านบาท/เดือน และเดือนมิถุนายน 2565 มีรายจ่ายประมาณเดือนละ 1,849 ล้านบาท/เดือน
.
ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาแอลพีจีตลาดโลกสูงกว่า 800 เหรียญฯต่อตัน หากไม่มีการอุดหนุนราคาแอลพีจีจริงจะต้องอยู่ที่ 39 บาทต่อกก.หรือ 615 บาทต่อถัง 15 กก.
อย่างไรก็ดี หากจะกู้เพิ่มเติมจากกรอบวงเงินที่รัฐวางไว้ให้อีก 1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภาพรวมทั้งราคาตลาดโลกและนโยบายภาครัฐ เช่น กรณีดีเซลหากอุดหนุนครึ่งต่อครึ่งและหากเกิน30 บาทตามเกณฑ์ราคาในปัจจุบัน ดีเซลอาจจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 34บาท/ลิตร ไปแล้ว หลังจากนี้จึงต้องดูสถานการณ์ ซึ่งการขยับกรอบราคา LPG และดีเซลดังกล่าวจะทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันดีขึ้นและหากราคาน้ำมันโลกลดลงจะสามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อชำระหนี้ได้เร็วขึ้นอีกด้วย
.
อย่างไรก็ตามหากไม่เป็นไปตามแผนภาครัฐก็สามารถนำเงินอื่นๆมาสนับสนุนกองทุนฯได้ตามมาตรา6(2) ส่วนที่ผ่านมากองทุนฯผ่านคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) แล้วสามารถลดภาระได้ส่วนหนึ่ง และ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เห็นชอบร่างแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 –2567 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงานในเรื่องหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
.
โดยต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งมีการปรับกลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (Exit Strategy) และเมื่อฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้ติดลบหากระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังอยู่ในระดับวิกฤตจนส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ ให้เริ่มดำเนินกลยุทธ์ถอนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยปรับลดการช่วยเหลือลง
.

ThePOINT #ข่าวเศรษฐกิจ #วิศักดิ์วัฒนศัพท์ #กองทุนน้ำมัน #สกนช. #สถาบันการเงิน #ปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง

Must Read

Related News

- Advertisement -