นายกษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุถึงกิจกรรมที่ ครป. เตรียมจัดเวทีชำแหละ 5 ปีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่ 6 เม.ย.นี้ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ว่าเราต้องทบทวนว่าเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสิ้นสุดของระบอบการเมืองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute Monarchy) และเป็นการเริ่มต้นใหม่ของราชอาณาจักรไทย ในรูปแบบการเมืองการปกครองที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำกับ และองค์พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ (Constitutional Monarchy)
.
นายกษิต ระบุว่า รวมทั้งวิถีทางการเมืองการปกครองจะเป็นไปในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งและมีการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมือง และในการนี้มีการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายการเมือง กับฝ่ายข้าราชการประจำ และฉะนั้น ฝ่ายข้าราชการประจำทุกประเภท (ทหาร ตำรวจ พลเรือน) ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีบทบาททางการเมือง แต่ขึ้นอยู่กับการบังคับบัญชาของฝ่ายการเมืองเป็นสำคัญ
.
“ความเป็นมาในรอบ 90 ปี ราชอาณาจักรไทยก็ยังไม่สามารถบรรลุความเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนดังประเทศใกล้เคียง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และแม้กระทั่งภูฏาน และมาเลเซีย ซึ่งต่างเป็นราชอาณาจักรเหมือนไทยเรา”นายกษิต กล่าว
.
นายกษิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการตระหนักรู้ การเข้าอกเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมืองในความเป็นไปของบ้านเมือง ก็มีการพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง แต่ทว่าก็เผชิญกับความคิดอ่านและความเชื่อถือแบบอนุรักษ์นิยมของการกระจุกตัวของอำนาจ หรือการรวมศูนย์อำนาจที่กระจุกอยู่ที่ระบบข้าราชการประจำ และความนึกคิดที่ว่าฝ่ายกองทัพเท่านั้น เป็นผู้ให้เสถียรภาพ และปกป้องความมั่นคงให้กับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ไม่ยอมรับซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกฎหมายรัฐธรรมนูญ
.
นายกษิต ระบุว่า 5 ปีของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 มิได้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่อำนวยให้ความเป็นประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทยรุดหน้า แต่กลับเป็นตัวถ่วงและอุปสรรคขวางกั้น สาเหตุเพราะ เป็นผลงานของฝ่ายกองทัพที่ได้เข้าปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจ และประสงค์ที่จะให้ฝ่ายข้าราชการประจำมีบทบาทในเรื่องการบ้านการเมืองอีกต่อไป กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงเป็นกฎหมายกำหนดทิศทางและสาระเนื้อหาของการบ้านการเมืองแบบผสมผสาน หรือลูกผสมระหว่างการเลือกตั้ง กับการแต่งตั้ง ระหว่างฝ่ายการเมือง กับฝ่ายข้าราชการประจำ และระหว่างการกระจุกตัว กับการกระจายอำนาจ และจำกัดจำเขี่ยสิทธิเสรีภาพของการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมือง ทั้งที่เขาร่วมกันเป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของอำนาจอธิปไตย
.
นอกจากนั้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยตลอดมาก็มักจะอ้างเสียงข้างมากในการตัดสินใจและสร้างความชอบธรรม โดยมิได้คำนึงถึงเสียงฝ่ายน้อย หรือฝ่ายค้าน หรือผู้ที่เห็นต่าง และไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างเสียงข้างมากเป็นผู้ปกครอง แต่ต้องมีการคานด้วยสิทธิและความถูกต้องชอบธรรมของฝ่ายเสียงข้างน้อย (Majority rule and minority right)
.
“การเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ มักจะมีข้อจำกัด ด้วยความนึกคิดที่ว่า เป็นเรื่องราชการ เป็นความลับราชการ หรือเป็นอำนาจของฝ่ายบ้านเมือง และฉะนั้น ประชาชนพลเมืองไม่มีสิทธิ์ ในขณะเดียวกัน บรรดานักการเมืองส่วนใหญ่ก็หาและรับประโยชน์จากกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และมิได้ดำเนินการใดๆ อย่างจริงจังในการล้มเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้อย่างเอาจริงเอาจัง”นายกษิต กล่าว
.
นายกษิต เห็นว่าในขณะเดียวกัน ฝ่ายพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้ ยังไม่สามารถสร้างกระแสสังคมเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจข้อบกพร่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในวงกว้างเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ ว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง มีอะไรที่ไม่ไปด้วยกับหลักประชาธิปไตย แล้วก็ไม่สามารถมีข้อเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ที่ปูพื้นฐานและวางโครงสร้างความเป็นประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทย ให้เป็นแบบก้าวหน้า โดยการนำเอาข้อดีข้อเด่นของกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เช่น ปี 2517 และ 2540 ขึ้นมาเติมต่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
.
“ที่ผ่านมาจึงเป็น 5 ปีแห่งความล้มเหลว ซึ่งมาจากตัวสาระเนื้อหาของกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง ที่จำกัดจำเขี่ยการมีส่วนร่วม การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง การไร้ภาวะผู้นำ อันเห็นได้จากการที่ไม่ฟัง ไม่ยอม และไม่พบปะ กับบรรดาผู้ที่เห็นต่าง แต่กลับใช้กลไกของราชการและกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปฏิเสธและปราบปราม เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมไทยยิ่งขึ้นไปอีก”นายกษิต กล่าว
.
ThePOINT #ข่าวการเมือง #กษิตภิรมย์ #คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย #ครป. #รัฐธรรมนูญ
- Advertisement -