วันนี้(28 ก.ย.) ที่รัฐสภา ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นตัวแทนกกต. เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับรายละเอียดของแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งของส.ส.ในช่วงระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 มี.ค. 66 โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมรับฟังด้วย
.
นายอนันต์ แจ้งว่า กมธ.จะขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มที่จะต้องให้กกต.ชี้แจง คือ 1.ผู้ที่ประสงค์ลงรับสมัครรับเลือกตั้งส.ส. 2.รัฐมนตรีและข้าราชการการเมือง 3.ข้าราชการทั้งระบบ และ 4.ส.ส.และกมธ.ที่ต้องลงไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มจะสามารถปฏิบัติได้แค่ไหน ทางกกต.ชี้แจงว่า ในช่วงเวลา 180 วัน ยังคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งหาเสียงตามกฎเกณฑ์เดิม โดยสามารถโฆษณาหาเสียง ใช้แผ่นป้ายตามระเบียบ และดำเนินชีวิตตามปกติในการร่วมงานประเพณีต่างๆ ได้ เช่น ร่วมงานศพ สามารถวางพวงหรีดได้ แต่ไม่สามารถวางพัดลม ผ้าห่ม หรือของใช้ต่างๆ ได้ เพราะถือว่าเป็นสิ่งของ ซึ่งสิ่งใดที่สุ่มเสี่ยง ก็ไม่ควรทำและไม่ควรใช้ความได้เปรียบในการหาเสียง
.
นายอนันต์ ระบุว่า ทั้งนี้ มีสมาชิกได้ซักถามในหลายประเด็น อาทิเช่น นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… และพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่มีข้อสงสัยว่า การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายตามระเบียบของกกต. ได้ยึดตามวันครบอายุสภาฯ ในวันที่ 23 มี.ค. 66
.
นายอนันต์ ระบุอีกว่า ทั้งนี้หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อน จะต้องเริ่มต้นคิดคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างไร และในช่วงเวลานี้ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นปัญหาต่อการคำนวณค่าใช้จ่ายหรือไม่ รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตถึงเอกสารชี้แจงรายละเอียดของกกต. ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า แม้จะมีรายละเอียดครบถ้วนจริง แต่ไม่มีการลงนามรับรองตามกฎหมายจึงไม่มั่นใจว่า จะสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้จริงหรือไม่
.
ร.ต.อ.ชนินทร์ ชี้แจงอีกว่า หากทำผิดก่อนช่วงครบวาระ แล้วต่อมามีการยุบสภา ที่เป็นความเห็นทางกฎหมายฐานความผิดในขณะที่กระทำมีกรอบอยู่กรอบหนึ่ง และเมื่อกรอบเดิมยกเลิกก็มาเริ่มกรอบใหม่ ซึ่งต้องมีการหารือกันอีกหลายรอบ แต่ถ้าท่านทำผิดต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
.
ขณะที่น.ส.นภาพร เพ็ชรจินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะโฆษกกมธ.ที่ได้สอบถามถึงการไปร่วมงานศพ สามารถให้พวงหลีดได้หรือไม่ และหากเป็นพวกผ้าและพัดลมทำไมไม่สามารถมอบให้ได้ นอกจากนี้ การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย กกต.จะมีวิธีการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร
.
ร.ต.อ.ชนินทร์ ชี้แจงว่า หากไปร่วมงานศพสามารถให้พวงหรีดที่เป็นดอกไม้สดได้ เนื่องจากมองว่าเป็นการคารวะศพ แต่อย่างอื่นมองว่าเป็นสิ่งของ ซึ่งการให้พวงหลีดที่เป็นดอกไม้สดจะได้บุญมากกว่า สำหรับการหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถ้ามีค่าใช้จ่ายก็ให้นำมาคิด หรืออย่างกรณีที่มีแฟนคลับมาช่วยหาเสียงในโซเชียลหากเกิน 10,000 บาท ก็ให้นำมาแจ้งกับพรรคการเมืองเพื่อคิดเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนวิธีการตรวจสอบนั้น หากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ทางกกต.ก็จะต้องพิสูจน์ความผิดนั้น สำหรับข้อความที่จะเขียนในป้ายหาเสียงที่สามารถเขียนได้จะเป็นการเขียนชื่อผู้สมัคร เบอร์โทรศัพท์ นโยบายพรรค สโลแกน และให้พึงระวังเรื่องการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น
.
กกต. แจงกฎเหล็ก!!เลือกตั้ง ชี้ร่วมงานศพให้พวงหรีดดอกไม้สดได้บุญมากกว่า’พวงหรีดพัดลม’ที่เป็นสิ่งของ
- Advertisement -