เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2566 โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ว่า ส.ส.ที่อยากได้พิธาเป็นนายก มี 150 คนจาก 500 .. ซึ่งไม่ถึงครึ่ง
อีก 150 กว่าเสียงที่ไปเติม คือตัวแทนจากพรรคที่อยาก “ร่วมรัฐบาล” ไม่ใช่ตัวแทนของคนที่อยากให้พิธาเป็นนายก เพราะสส.เหล่านั้นหาเสียงให้แคนดิเดทคนอื่นหมด ตอนเลือกตั้ง
จะไปเหมาว่านี่คือการแสดงว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากให้พิธาเป็นนายก จนต้องบีบให้พรรคที่เขาไม่อยากได้ “พิธา” มาหลับหูหลับตาโหวตให้ .. ไม่ได้
ไม่มีใครต้องไปโหวตสนับสนุน “การร่วมรัฐบาล” หรือความอยากเป็นนายกของใคร ถ้าเขาไม่ได้ต้องการ เหตุผลพื้นฐานที่สุดของการโหวตคือการแสดงความต้องการ เพื่อเอามานับกันแล้วกำหนดทิศทางประเทศ
การบีบให้คนต้องเลือกในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยค่ะ อย่าใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ให้มันมั่วไปกว่านี้
เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขกติกาเพี้ยนๆ ก็ต้องหาทางเอาชนะตามกติกาให้ได้ ไม่ใช่ไปสร้างความเพี้ยนใหม่ขึ้นมา
(ตอนเรารณรงค์แก้ ม.272 ตัดอำนาจสว.โหวตนายกฯ มีคนมาร่วมลงชื่อแปดหมื่นคน ที่เหลือบอกจะทำไปทำไมไร้สาระ เดี๋ยวชนะเลือกตั้งถล่มทลายก็ปิดสวิตช์ สว. ได้เอง ถึงตอนนี้ทำไม่ได้ตามนั้น จะเลือกใช้วิธีไปบีบบังคับคนอื่น)
ถ้าพิธาได้โหวตไม่พอ พรรคต่อไปมีสิทธิลองเสนอแคนดิเดทของตัวเองแล้วจัดสูตรใหม่บ้าง และควรทำด้วย ถ้าไม่ทำก็ประหลาดแล้ว ตกลงคุณหาเสียงมาแทบตาย เพื่อให้พรรคอื่นซึ่งได้เสียงไม่ถึงครึ่งเป็นนายกหรือ? …
ลองดูว่าคุณ “เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” ได้มากกว่าหรือไม่ นั่นคือคุณสมบัติที่นายกฯของวันพรุ่งนี้ต้องมี
ถ้าพรรคเพื่อไทยยังไม่ Get a grip ทุกอย่างจะหลุดไปอยู่ในมือของคนที่คุณไม่ต้องการแน่นอน
ต่อมาโบว์ ได้โพสต์อีกว่า จากการสร้างกระแสกดดันให้ทุกพรรคการเมืองโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ ขอยืนยันหลักการดังนี้ค่ะ
“การโหวตพิธา ไม่ใช่การแสดงเจตจำนงว่าไม่เอา สว.โหวตนายกฯ”
การโหวตพิธาเป็นนายกฯ คือการแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่าสนับสนุนให้รัฐดำเนินแนวทาง “เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง” แบบพรรคก้าวไกล ซึ่งมีรายละเอียดมากมายอยู่ในนั้น
พรรคใดยอมรับได้ หรือมีแนวทางพ้องกันอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา
แต่หากพรรคการเมืองใดไม่ได้มีเจตจำนงในแนวทางเดียวกัน แต่ขัด แย้ง หรือตรงข้ามกัน เขามีสิทธิเต็มที่ในการยืนยันแนวทางที่เขาได้หาเสียงกับประชาชนที่เลือกเขามา ด้วยการไม่โหวตสนับสนุนให้แคนดิเดทคนอื่นไปดำเนินนโยบายตามแนวทางที่เขาไม่ได้เชื่อ หรือตรงข้ามกับสิ่งที่เขาได้สัญญาไว้
เขาไม่มีหน้าที่ต้องโหวตเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เขาไม่ต้องการ
และแน่นอนว่า เมื่อคิดถึงการเลือกตั้ง ที่ต่างคนต่างมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง มีแนวทางและคำสัญญาของตัวเอง พวกเขาไม่มีราคาทางการเมืองใดๆที่จะต้องจ่ายตามคำขู่ เมื่อเขารับผิดชอบต่อผู้ลงคะแนนของเขา และใช้สิทธิแสดงเจตจำนงอย่างตรงไปตรงมาตามรัฐธรรมนูญ
หากอ่านถึงบรรทัดนี้แล้วยังไม่เข้าใจ ลองเปลี่ยนภาพพรรคก้าวไกลเป็นไทยภักดี หากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แล้วมีคนมาขู่ว่าจะมีราคาทางการเมืองที่ต้องจ่ายนะ หากพรรคอื่นไม่โหวตให้ คุณจะตอบอย่างไร