ดร.อบรม อรัญพฤกษ์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ในฐานะที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ซึ่งได้ติดตามกรณีน้ำมันรั่วกลางทะเล จ.ระยอง มาตั้งแต่วันเกิดเหตุ 25 มกราคม ระบุถึงการประชุมเพื่อหาข้อยุติในการชดเชยค่าเสียหายให้ผู้ได้รับผลกระทบ ระหว่างตัวแทนบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ SPRC กับตัวแทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง,สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวระยอง และผู้ประกอบการ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ว่า จากการประชุมหายังไม่ได้ข้อยุติในการชดเชยค่าเสียหายดังกล่าว ทั้งนี้ในการพูดคุย กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้ยื่นหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเสียหาย โดยคิดจากรายได้ที่ขาดหาย พร้อมค่าเสียโอกาส ซึ่งต้องทั่วถึงและเป็นธรรม อ้างอิงคำตัดสินของศาล กรณีปี 2556
.
ดร.อบรม ระบุว่า กรณีนี้ SPRC ตอบว่าต้องไปประชุมกันก่อน อยากจ่ายให้เร็ว แต่ต้องคิดก่อน ว่าเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ แต่ตนเองคิดว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน 41 ราย เป็นผู้ประกอบการหาดแม่รำพึง ควรได้รับชดเชยทันทีเพราะมีความเดือดร้อนมากที่สุด จึงควรจ่ายบางส่วนก่อน ทั้งนี้ข้อมูลของท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระยอง พบว่ารายได้หมุนเวียนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ก่อนเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงสู่ทะเล สถานการณ์ท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวกลับมาที่ 55% และมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ
.
รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยเดือนมกราคม 2565 มีรายได้ 947.99 ล้านบาท การคำนวณความเสียหายจึงต้องพิจารณาตัวเลขคาดการณ์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่หายไป และเดือนต่อๆ ไปด้วย
.
ส่วนแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมา ได้ยื่นแนวทางดำเนินงานโดยใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียล สร้างการรับรู้อย่างเร่งด่วน ปรับภาพลักษณ์และสร้างการจดจำใหม่ จูงใจให้ท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง, โครงการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัดระยอง,โครงการ CSR ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งข้อเสนอส่วนนี้ ทาง SPRC ตอบรับไปพิจารณา
.
ดร.อบรม เปิดเผยด้วยว่า ในที่ประชุมได้ตั้งคำถามถึงปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ทาง SPRC แจ้งว่ามีจำนวน 47,000 ลิตร ส่วนครั้งที่ 2 อยู่ที่ประมาณ 5,000 ลิตร อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงจำนวน ยี่ห้อ ของ Dispersant ที่ใช้ ก็ไม่ได้รับคำตอบ แต่ระบุสเปคว่าเป็น Food grade ย่อยสลายไปกับธรรมชาติได้ ซึ่งส่วนตัวยอมรับเรื่องการย่อยสลาย แต่ไม่เชื่อว่าเป็น food grade แน่นอน
.
เมื่อถามถึงสาเหตุการรั่วไหลครั้งที่ 2 ทั้งที่มีการห้ามเคลื่อนย้ายและเข้าทำงานในพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุ ทำไมจึงไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ก็ได้รับคำตอบเพียงว่ารอตรวจสอบ บอกได้เพียงว่าจุดที่รั่วคือท่ออ่อน ของทุ่นที่ต่อกับท่อ 47 นิ้ว ซึ่งท่ออ่อนนี้จะต้องเปลี่ยนในเดือนตุลาคม แต่เกิดรั่วก่อน ขณะนี้สั่งมาแล้วจากต่างประเทศ ซึ่งต้องสั่งแบบ Make to Order
.
ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ยังระบุถึงข้อสังเกตของทีมท่องเที่ยวจังหวัดระยองต่อกรณีนี้ว่า เอกสารการขอเบิก Dispersant สารขจัดคราบน้ำมัน ระบุจำนวน 400,000 ลิตร แต่กรมควบคุมมลพิษระบุให้เบิกมา 85,000 ลิตร ใช้หมดในอัตราส่วน ผสม 1:10 ดังนั้นใช้สาร Dispersant ไป 850,000 ลิตร ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ จะพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริง ซึ่งตัวเลขต้องสะท้อนถึงจำนวนน้ำมันรั่วที่แท้จริง ซึ่งสำคัญมาก เพราะแผนฟื้นฟูจะได้ถูกทิศทาง รวมถึงเพื่อประเมินความเสียหายในท้องทะเลไทย และการประเมินผลกระทบกับอาชีพชาวประมงในระยะยาว
เยียวยาไม่คืบ!!’ที่ปรึกษาท่องเที่ยวระยอง’จี้เร่งจ่ายค่าชดเชยเหตุน้ำมันรั่ว หลังปชช.ได้รับผลกระทบเดือดร้อน
- Advertisement -