หน้าแรกสังคมเด็กไทยสุดเจ๋ง!!ไอเดียล้ำทำแอปฯเชื่อมชาวนา-ผู้บริโภค ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง สมาร์ทฟาร์มมิ่งตอบโจทย์คนเมือง

เด็กไทยสุดเจ๋ง!!ไอเดียล้ำทำแอปฯเชื่อมชาวนา-ผู้บริโภค ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง สมาร์ทฟาร์มมิ่งตอบโจทย์คนเมือง

ทีม”Youth Forward” ซึ่งประกอบด้วย น.ส.วรดา ประไพกรเกียรติ (ต้นหลิว) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ น.ส.กัญจรีย์ ศุภวิทยา (ปิ่นปิ๊น) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ นำเสนอทางออกแก้โจทย์ใหญ่ปัญหาเกษตรกรยากจน รายได้ไม่คุ้มกับค่าแรง บนเวทีอาเซียน โดย”Youth Forward” โดยเป็นทีมมัธยมฯ หนึ่งเดียวของแข่งขัน ASEAN DSE ระดับภูมิภาค โดยใช้ดาต้าวิเคราะห์ปัญหาภาคการเกษตรของอาเซียน พร้อมโชว์แผนยกระดับคุณภาพชีวิต-เพิ่มรายได้ ใช้แอปพลิเคชันเชื่อมเกษตรกร-ผู้บริโภคซื้อสินค้าโดยตรง ลดช่องว่างพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ ชนะใจกรรมการคว้าแชมป์เวทีระดับอาเซียนมาครองสำเร็จ
.
โดยต้นหลิว และปิ่นปิ๊น เปิดเผยว่า ในการพรีเซนต์หัวข้อโครงการมุ่งลดช่องว่างในกลุ่มคนทำงานภาคเกษตรกรรม ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มเกษตรกร วางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน การแข่งขันรอบภูมิภาคกับตัวแทนอีก 9 ทีม พวกเธอเลือกใส่ชุดม่อฮ่อม สวมงอบ และผ้าขาวม้าพาดไหล่ สะท้อนความเป็นไทย และการแต่งกายของ “ชาวนา” กระดูกสันหลังชาติ ผู้ผลิตอาหารป้อนครัวโลก โดยเฉพาะ”ข้าว” เป็นสินค้าสำคัญในการส่งออก แต่รายได้ของพวกเขากลับสวนทางการทำงานหนัก
.
ต้นหลิว และปิ่นปิ๊น มองว่า ชาวนาเป็นอาชีพหลักในภูมิภาคอาเซียน แต่ได้รับค่าตอบแทนไม่เพียงพอ หลายคนมีหนี้สิน จึงต้องการยกระดับให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลช่วยพัฒนาแอปพลิเคชัน ให้เกษตรกรติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งไทยและอาเซียน มีชาวนา 43% เป็นพื้นที่ภาคเกษตรกรรม ทำให้เห็นถึงปัญหานี้ จึงเลือกนำเสนอหัวข้อนี้ในเวทีอาเซียน
.
ทั้งนี้ 10 นาทีของการพรีเซนต์ ใน 4 นาทีสุดท้าย เป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นมากที่สุด ทั้งสองคนต้องใช้ไหวพริบตอบคำถามจากคณะกรรมการ 4 คน เช่น โปรเจกต์นี้ใช้เวลาเท่าใด? ขั้นแรกต้องทำอะไร? และใครจะเป็นผู้สนับสนุนด้านเงิน? ซึ่งหนึ่งในคำถามจากคณะกรรมการ หากเกษตรกรไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณขัดข้องจะทำอย่างไร? พวกเธอตอบว่า แอปฯ จะมีข้อมูลอีเมล และเบอร์โทรศัพท์เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้าติดต่อ
.
ทางออกที่ตกผลึกจากการวิเคราะห์ปัญหารายได้เกษตรกร ถูกถ่ายทอดเป็น 2 ข้อเสนอสำคัญ นั่นคือ การพัฒนาแอปพลิเคชัน ชื่อว่า “AGRI Connect” โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเทรนด์ชอบปิ้งออนไลน์ที่มาแรง นำมาปรับใช้ในภาคเกษตรกรรม เป็นสะพานเชื่อมชาวนากับผู้บริโภค ตัดพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้ชาวนาได้ผลประโยชน์สูงสุด
โครงสร้างของแอปพลิเคชันมี 4 หน้าหลัก เน้นเข้าใจง่าย ใช้งานสะดวก แสดงชื่อเกษตรกรจากพื้นที่ใกล้ลูกค้าที่สุดก่อน, ปริมาณผลผลิตที่อยู่ระหว่างการปลูกของเกษตรกร ผลผลิตจะออกมาเมื่อใด และเตรียมปลูกอะไรเพิ่ม ให้ลูกค้าสั่งจองล่วงหน้าได้
.
นอกจากนี้ในโปรไฟล์เกษตรกรมีทั้งประวัติ ภาพฟาร์ม ใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เมื่อลูกค้าสั่งสินค้าแล้วจะมีการสรุปรายการ และผู้บริโภคเลือกได้เองว่าต้องการมารับสินค้าที่ฟาร์ม หรือให้จัดส่งที่บ้าน โดยเกษตรกรได้รับค่าตอบแทนไม่คุ้มกับแรงงานที่เสียไป และรายได้ยังหายจากคนกลาง แต่หากมีแอปฯ เชื่อมเกษตรกร กับผู้บริโภคโดยตรง เชื่อว่าจะดีขึ้น
.
ข้อเสนอแนะที่ 2 เป็นขั้นตอนการเก็บข้อมูลและพัฒนาแผน ระยะสั้น ระยะยาว 10 ปี แบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1 การศึกษาและให้ทุนวิจัยเกษตรกรแบบครบวงจร เช่น ทางเลือก “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” การปลูกพืชตามแนวตั้ง ตอบโจทย์พื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่มีอาคารจำนวนมาก ส่วนเฟสที่ 2 หลังมีนักวิจัยแล้วจะทำให้พัฒนาภาคการเกษตรได้ง่ายขึ้น และเฟส 3 ร่วมกับเครือข่ายในประเทศอาเซียน แลกเปลี่ยนข้อมูลและสินค้า มีนักเรียนแลกเปลี่ยนด้านเกษตรกรรม รวมทั้งจัดเวทีประชุมอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อก้าวไปพร้อมกันทั้งภูมิภาค
.
ต้นหลิว และปิ่นปิ๊น ระบุว่า กว่าจะเป็นผู้ชนะเลิศในเวที ASEAN DSE ระดับภูมิภาค พวกเธอต้องเตรียมข้อมูล นำไปมาวิเคราะห์และจัดทำพรีเซนเทชั่น ซึ่งในการแข่งขันระดับประเทศ มีข้อแนะนำว่า ข้อมูลมากเกินไป พูดเร็ว คนดูไม่สามารถเข้าใจทั้งหมดได้ จึงปรับไปเป็นรูปภาพและกราฟ สร้างสตอรี่เปรียบอาเซียนเป็น “ต้นไม้” ที่ต้องเติบโตไปด้วยกัน นอกจากนี้ ก่อนการแข่งขัน ASEAN DSE ระดับภูมิภาค เอสเอพีและมูลนิธิอาเซียนได้จัดเวิร์กช็อป ให้ 10 ทีมตัวแทนประเทศอาเซียน ได้ทำความรู้จัก เรียนรู้วัฒนธรรม และสถานที่ในประเทศต่าง ๆ
.
ต้นหลิว มองว่า Data Science เป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะมีส่วนช่วยในเรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) รวมถึงทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill) นำไปปรับใช้ได้กับทุกสายอาชีพ หากมีทักษะเชิง Data จัดการกับข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ จะทำให้เราวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
.
โดยเลือกหัวข้อเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นหัวข้อที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควร ประกอบกับภาคเกษตรกรรมเป็นปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน แต่กลับพบว่ายังมีอุปสรรคและช่องว่างในหลายด้าน เช่น การขาดองค์ความรู้ที่เพียงพอ จึงต้องการยกระดับให้เกษตรกรที่จัดเป็นกลุ่ม Blue Collars มีรายได้เทียบเท่ากับกลุ่ม White Collars
.
ขณะที่ปิ่นปิ๊น ขอบคุณโอกาสที่ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะนอกห้องเรียน ทั้งทักษะด้านการสื่อสาร ต้องกระชับ ชัดเจน ตรงประเด็นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ อีกทั้งยังได้เสริมทักษะด้านการทำงานเป็นทีม เคารพความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีม เพื่อร่วมกันทำงานให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ส่วนตัวเชื่อว่าทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่าง Soft Skill เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมเช่นกัน
.

ThePOINT #ข่าวสังคม #เกษตรกร #ชาวนา #สมาร์ทฟาร์มมิ่งตอบโจทย์คนเมือง #ทีมYouth Forward #โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

Must Read

Related News

- Advertisement -