หน้าแรกการเมือง‘อุตตม’ดันEEC-ท่องเที่ยว เครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศ!!เพิ่มขีดความสามารถเศรษฐกิจประเทศ

‘อุตตม’ดันEEC-ท่องเที่ยว เครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศ!!เพิ่มขีดความสามารถเศรษฐกิจประเทศ

วันนี้(2 มี.ค.) นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแกนนำผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า สวัสดีครับ เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ TNN เรื่องทิศทางของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor) ต่อจากนั้นก็มีโอกาสบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับผู้อบรมหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้านธุรกิจท่องเที่ยว ที่จัดโดยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
.
ประเด็นหนึ่งที่ผมได้แชร์ความเห็นในทั้งสองกิจกรรมนั้น ก็คือทั้งอีอีซี และภาคการท่องเที่ยว จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ซึ่งโจทย์สำคัญที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน คือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีอยู่นั้น นับวันจะอ่อนพลังลง จนไม่สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสั่งสมของประเทศ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน รวมทั้งไม่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ทั้งนี้หากเราเดินต่อด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราจะเผชิญกับการที่อนาคตของประเทศจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ตลอดจนไม่สามารถก้าวทันโลก และไม่สร้างโอกาสใหม่ๆให้กับประชาชน ผมขอสรุปประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งไม่เอื้อต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ดังนี้
.
1.เศรษฐกิจฐานรากของประเทศยังไม่เข้มแข็ง ประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับฐานราก ยังต้องเผชิญปัญหาความยากจน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขาดโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เพียงพอกับการดำรงชีพ
.

  1. เครื่องยนต์หลักในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ภาคการส่งออก ซึ่งมีสัญญาณว่าจะเริ่มอ่อนกำลังลง เพราะความได้เปรียบของสินค้าเราในตลาดโลกลดลง เริ่มก้าวไม่ทันคู่แข่ง ความได้เปรียบเดิมๆ เข่น เรื่องค่าแรง ข้อเท็จจริงคือ ค่าแรงในประเทศนับวันสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ก็กำลังเร่งขึ้นมาเป็นคู่แข่งหรือแซงหน้าสินค้าส่งออกที่สำคัญของเราไปแล้ว
    .
  2. นอกจากการส่งออกแล้ว การท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้เข้าประเทศมาโดยตลอด  กล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวไทยมีศักยภาพสูงมาก ไม่แพ้ประเทศอื่น อย่างไรก็ดี ในโลกที่พฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การท่องเที่ยวต้องไม่พึ่งพาเพียงการโปรโมชั่น เพื่อหวังผลในเชิงปริมาณเป็นหลักเท่านั้น
    .
  3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา ไม่เพียงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เข่น ถนน ระบบราง การขนส่งทางน้ำ และอากาศ แต่เราต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่จะเป็นพลังในโลกยุคใหม่ด้วย
    .
    5.ทั้งนี้ในระบบเศรษฐกิจใดๆก็ตาม คน คือหัวใจสำคัญ  ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคน ให้สามารถตอบโจทย์การปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในโลกใหม่ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์

    ประเทศไทยมีจุดแข็งในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังคน ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของจุดแข็งที่เรามีได้อย่างเต็มที่นั้น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก และโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาด้วยเป้าหมายยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
    .
    ด้านการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีความสามารถพัฒนาการผลิตสินค้ามูลค่าสูงขึ้นกว่าเดิม ตลอดห่วงโซ่การผลิต นั้นคือ เป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งเป็นสินค้าและกระบวนการผลิตที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจฐานรากไปพร้อมกัน ทำให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ และการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างครอบคลุม
    .
    ขอยกตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในระดับต้นๆของโลก แต่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานสีเขียว พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ เราจึงสมควรเร่งกำหนดทิศทางการปรับเปลี่ยน ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ  เพื่อให้ยังคงบทบาทที่เข้มแข็งในเวทีโลกต่อไปได้ในอนาคต
    .
    โดยให้มีความชัดเจน ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวเนื่อง จะมีเป้าหมายอย่างไร และเกิดขึ้นในรูปแบบใด เพื่อให้ไทยจะยังเป็นที่น่าสนใจของลูกค้า นักลงทุน พันธมิตร ผู้ประกอบการ แต่หากไม่มีการปรับหรือยกระดับที่เหมาะสม การย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงอนาคตของบุคลากรจำนวนมากที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวเนื่อง
    .
    ในทำนองเดียวกัน อุตสาหกรรมอื่นๆของประเทศ จำเป็นต้องได้รับการทบทวนยกระดับ ควบคู่ไปกับการสร้างอุสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ อีเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สินค้าจากเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
    .
    สำหรับการท่องเที่ยวนั้น ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เราควรมุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะมีบทบาทสูง ต่อการช่วยยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก โดยเราสามารถวางยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ให้เกิดการท่องเที่ยวภาคชนบทอย่างกว้างขวาง และมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับภาคเกษตร และการผลิตสินค้าชุมชน เพื่อให้โอกาสชุมชนนำศักยภาพทั้ง 3 ด้านที่มีอยู่ มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
    .
    ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการใช้พลังงานสีเขียว ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชต่างๆ เช่น ปาล์ม ประเทศไทยถือว่ามีจุดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นโอกาสให้คนไทยพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้ โดยยึดโยงขบวนการผลิตเข้ากับแหล่งวัตถุดิบที่มีอยู่ในชนบท เป็นการสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกันสามารถพัฒนาแหล่งผลิตนั้น เข้าเป็นเครือข่ายของแหล่งท่องเที่ยวชนบท โดยให้สอดคล้องกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั้งเมืองหลักและเมืองรองทั่วทุกภูมิภาค
    .
    ด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งที่เราสมควรมุ่งเน้น คือแผนการลงทุนทั้งการขนคน ขนของ ในทุกมิติของการขนส่ง ที่ยึดโยงและเกื้อหนุนการพัฒนา ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆของประเทศ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนตั้งแต่ระดับฐานราก สามารถเข้าถึงข้อมูล บริการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
    .
    เช่น อินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่มาพร้อมด้วยเนื้อหาสาระข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อการสร้างงาน สร้างโอกาสใหม่ๆในชุมชน ตลอดจนการขยายต่อยอดเครือข่ายการบริการดิจิทัล ที่จะรองรับธุรกรรมสมัยใหม่ เช่น ธุรกรรมด้านการเงิน การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยโครงสร้างพื้นฐานที่กล่าวมา ควรสามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่น เพื่อเป็นการสนับสนุน การค้า การลงทุน ระหว่างประเทศด้วย
    .
    อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคนก็คือหัวใจของทุกระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นหากเราจะประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ เราควรเน้น การพัฒนาบุคลากร ในเรื่องการเสริมสร้างสมรรถนะการทำงาน การพัฒนาทักษะสำหรับโลกใหม่ รวมถึงการบ่มเพาะพลังความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐเอกชน เพื่อให้บุคลากรของไทยมีขีดความสามารถ ที่จะทำงานในระบบเศรษฐกิจแห่งอนาคตได้
    .
    หากเราร่วมกันปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถดูแลประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถการแก้ไขปัญหาสั่งสม เช่น ความเหลื่อมล้ำ ให้บรรลุผล ตลอดจนสร้างรากฐานที่มั่นคงเพื่ออนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป โดยประเทศไทยจะเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับคนไทยนั้น ครอบคลุมทุกภาคส่วนเพราะเศรษฐกิจใหม่ของเราจะเข้มแข็งตั้งแต่ฐานราก 
    .

ThePOINT #ข่าวการเมือง #อุตตมสาวนายน #พรรคสร้างอนาคตไทย #EEC #เศรษฐกิจ

Must Read

Related News

- Advertisement -