เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงอีกครั้ง ถึงการปรับหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุใหม่ ว่า เดิมมีการยกร่าง ระเบียบเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ต่อมากรมบัญชีกลางแจ้งมาว่า ผู้ที่ได้รายได้อื่น เช่น เบี้ยบำนาญ รับเบื้ยผู้สูงอายุไม่ได้ต้องเรียกคืน ทำให้มีปัญหาและสุดท้ายรัฐบาลก็ได้เรียกจ่ายเงินคืนประชาชน จากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงก็ได้มีการส่งระเบียบดังกล่าวให้กฤษฎีกาตีความ ซึ่งกฤษฎีกาตีความว่าระเบียบที่ออกมาไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ว่าประชาชนคนไทยจะต้องมีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ที่รัฐบาลจะต้องดูแลเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการที่ระบุว่า “จะให้ใครหรือไม่ให้ใครตามระเบียบเดิมไม่ได้” จึงเป็นที่มา ที่ทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องออกระเบียบใหม่
พลเอกอนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ในระเบียบใหม่มีการกำหนดว่าการที่จะให้เบี้ยผู้สูงอายุ จะต้องทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะต้องเป็นผู้กำหนด และส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีอำนาจ เพราะผูกพันกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ก่อนจะยืนยันว่า เราได้ทำหนทางไว้แล้วให้ทั่วถึงและเป็นธรรม จะมากหรือน้อย ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลนี้
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพจากรัฐบาลตอนนี้ ก็ยังคงได้รับเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่ครบอายุใหม่ ก็ยังสามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ถ้าเขายังไม่ออกกำหนดออกมา ประชาชนก็ยังรับเบี้ยอย่างที่ผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์เดิม
ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะหากดูสถานการณ์ที่พูดกันตอนนี้ ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์ อย่างน้อยจะต้องทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญและเป็นธรรม และต้องมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุดหนทางเราเตรียมไว้แล้ว จะออกทางไหนก็ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ และหากฟังจากเสียงที่ออกมาพูดกันทุกพรรคประชาชนน่าจะได้ประโยชน์
ส่วนที่ตอนนี้โซเชียล มีดราม่า ถึงการพิสูจน์ความจน พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่า มันก็มีวิธีคิดได้หลายแบบ ก่อนจะย้อนถามว่าถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่ ตนก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คุณคิดว่าผมควรได้ไหม ผมมีบำนาญ 60,000 กว่าบาทคุณคิดว่าผมควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้ จึงย้ำว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ มหาดไทย ก็ออกระเบียบ ให้สอดคล้องกับเขาเท่านั้นเอง อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัดไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะกำหนดเกณฑ์มา แต่ตนคิดว่าต้องตัด คนอย่างผมไม่ควรจะได้
ส่วนกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นการลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่าตนก็บอกไปอยู่ว่า ตอนนี้ ยังไม่มี ยังไม่มีการทำอะไรเลย จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดมา เพราะฉะนั้นที่พูดเนี่ยเข้าใจผิด ยังไม่มี ตอบได้หรือว่าจะให้หรือไม่ให้ ผมถามใหม่ว่า ถ้าให้เลย ผมได้ด้วยนะ ตนอายุ 70 ก็ได้ 700 ด้วย มันเหมาะสมไหม คนอย่างผมจะได้ เพราะฉะนั้นขอให้ดูผลของเขา ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ยุติ
ส่วนระหว่างนี้ก่อนที่จะมีระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมาท้องถิ่นจะทำอย่างไรนั้น พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่าก็ต้องหารือไป ถ้าไปถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ต้องหารือกันเพราะถ้าจ่ายไปแล้วไปเรียกคืนก็จะวุ่นอีก ถ้าบอกจ่ายหมด ผมได้ด้วยนะ ถึงวันนั้นคุณจะมาด่าอีกว่า คนอย่างผมไม่ควรจะได้