เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2566 – นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 เปิดเผยว่า การจับมือไขว้กันของผู้นำ 6 พรรคการเมืองที่ร้านอาหารย่าน ถนนสุโขทัยเมื่อเย็นวันที่ 17 พ.ค.และการแถลงข่าวจะร่วมกันตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ 310 เสียง หนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นถึงความหนักแน่นชัดเจนในการกอดคอกันของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่เคยเป็นฝ่ายค้านมา 4 ปี
นายบุญเลิศกล่าวอีกว่า สถานการณ์ขณะนี้กล่าวได้ว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน และพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาเปรียบเสมือนคนไข้มีอาการภาวะบีบรัดหัวใจในขั้นเริ่มต้น การไม่สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ทำให้เสียงโหวตไม่ถึง 376 เสียงกำลังถูกกระแสสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์จะรุนแรงขึ้นตามลำดับ การเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองคือ องค์กรนักศึกษา องค์กรประชาธิปไตย องค์กรประชาสังคมออกแถลงการณ์ จัดเสวนาสอบถามความเห็นประชาชน กดดัน ส.ว.ให้เคารพฉันทามติประชาชนที่โหวตเลือกพรรคก้าวไกลถึง 14.2 ล้านเสียง เกิดปรากฎการณ์พิธา ฟีเวอร์ พรรคเพื่อไทย 10 ล้านเสียง รวมแล้วเกือบ 25 ล้านเสียง ขณะที่พรรคขั้วรัฐบาล ได้คะแนนโหวตน้อยมาก
“นอกจากนี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่คัดค้านกัญชาเสรีก็แสดงท่าทีสนับสนุนนายพิธาให้เป็นนายกฯอย่างเต็มที่ จึงคาดการณ์ได้ว่า การรณรงค์ของฝ่ายประชาธิปไตยจะขยายวง กระจายไปทั่วทั้งประเทศเพื่อเรียกร้องกดดัน ส.ว.และ ส.ส.พรรคขั้วรัฐบาลประยุทธ์ให้หันมาสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ”
นายบุญเลิศกล่าวว่า ภาวะบีบรัดหัวใจในทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคอันตรายที่อาจถึงกับเสียชีวิตได้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางโรคหัวใจ น้ำในเยื่อหุ้มหัวใจมากจนเกิดการบีบรัดหัวใจ มีอาการหัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดดำที่คอโป่ง ความดันเลือดต่ำ ฟังเสียงหัวใจได้เบาลง ผู้ป่วยเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างเร่งด่วน ไม่ต่างไปจากอาการทางการเมืองของ ส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเวลานี้
“นับจากนี้ไป ผมเชื่อว่า กระแสสังคมจะก่อตัว ทวีความหนักหน่วงเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ และจะทนไม่ได้ หากส.ว.ซึ่งได้ชื่อเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย กินเงินเดือนภาษีประชาชนแต่ไม่เคารพเสียงของประชาชน รวมทั้ง ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา หากดื้อดึงไม่สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ตามหลักการประชาธิปไตย ความเสียหายต่อชื่อเสียง ความไม่น่าเชื่อถือ จะเป็นตราบาปติดตัวและติดพรรคไปตลอด สภาวการณ์เช่นนี้ หัวใจของส.ว.และส.ส.อาจจะช็อกก็เป็นได้”