ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “Looking Beyond Covid-19 โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19” โดยระบุช่วงหนึ่งว่า เมื่อวิกฤตโควิดผ่านพ้นไป ประเทศไทยมีโจทย์ท้าทายอย่างมาก หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นยุคทองของเศรษฐกิจไทย สามารถขยายตัวได้ปีละมากกว่า 10% ขณะนั้น growth story ค่อนข้างชัด มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาผลิตเพื่อส่งออก มีการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ที่ส่งผลให้ FDI โตมากกว่า 100% ต่อปี มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเวียดนามถึง 500 เท่า
.
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ด้านการส่งออก เวียดนามแซงไทยไปแล้ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า ขณะที่การส่งออกของไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า นอกจากนี้ สินค้าไทยยังไม่ “eco-friendly” จึงอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดที่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น รถยนต์สันดาปที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่จะถูกกระทบจากกระแสการลด carbon ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกรวมของไทย
.
ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า ขณะที่ในเรื่อง FDI เวียดนาม ก็แซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 2557 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดย FDI ของไทยที่ลดลงนี้เป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลง และไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3%
.
- Advertisement -