ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำโขงไหลผ่าน จ.หนองคาย ยังคงวิกฤตต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งชาว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ยังประสบกับปัญหาน้ำโขงล้นตลิ่งเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ ซึ่งรอบแรกเพียงแค่น้ำท่วมถนน ยังไม่ถึงพื้นที่ตอนใน แต่ครั้งนี้มวลน้ำได้ไหลทะลักตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. – 15 ก.ย. 67 ซึ่งกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้ไหลท่วมในพื้นที่ 4 ตำบล 24 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชน 2,700 หลังคาเรือน
ท่วมทั้งที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน วัด โรงงานอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน และพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง ถือเป็นสถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 16 ปี ระดับน้ำโขงที่สูงอย่างนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2551 น้ำโขงไหลทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว และไม่แตกต่างกัน โดยนายจรัญ กลางประดิษฐ์ นายอำเภอศรีเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และกองร้อย อส.อ.ศรีเชียงใหม่ หน่วยกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่และต่างจังหวัดหลายหน่วยงาน รวมทั้งภาคเอกชนลุยน้ำโขงที่ไหลเชี่ยวมอบอาหารกล่อง ถุงยังชีพและน้ำดื่ม เพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นางสมานต์ จันทร์ศรี อายุ 57 ปี ชาว ต.หนองปลาปาก
ส่วนวันนี้ (16 ก.ย.) ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬ เช้าวันนี้วัดได้ 13.58 เมตร เพิ่มขึ้นจากเช้าวานนี้ 18 เซนติเมตร อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 0.42 เมตร (ตลิ่ง 14.00 ม.) เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองบึงกาฬ และ ปภ. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ บริเวณหน้าเทศบาลเมืองบึงกาฬอีก 1 เครื่อง เพื่อสูบน้ำอยู่ในท่อระบายออกสู่แม่น้ำโขง โดยเทศบาลเมืองร่วมกับ ปภ. บึงกาฬ ชลประทานบึงกาฬ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 จุด เป็นจุดรับน้ำ ได้แก่ โรงเรียนบึงกาฬ, ศาลากลาง, หน้าเทศบาลเมือง, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, โรงพยาบาลบึงกาฬ และบ้านบึงสวรรค์ พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำออกจากจุดรับน้ำดังกล่าวทันที หากระดับในเขตเทศบาลเมืองสูงขึ้น
ขณะที่บริเวณห้วยอาฮง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาไหลสู่แม่น้ำโขง ถูกมวลน้ำโขงมหาศาลไหลย้อนกลับเข้าลำห้วย เข้าหาแก่งอาฮง ล้นถนนสายระหว่างตำบลหอคำ-ตำบลโนนสว่าง เข้าหนองเมี่ยง เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านนับไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือนที่น้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นเข้าลำห้วยสาขา ท่วมพื้นที่การเกษตร และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ จังหวัดบึงกาฬมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพจำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเซกา จำนวน 8 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 300 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่การเกษตรกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจ
ส่วนประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ และประมงของประชาชน จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีวิไล จำนวน 3 ตำบล 14 หมู่บ้าน, อ.ปากคาด 4 ตำบล จำนวน 21 หมู่บ้าน ส่วน อ.เมืองบึงกาฬ และ อ.พรเจริญ กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย และนี้อีก 2 อำเภอ ที่ยังไม่ประกาศพื้นที่ประสบภัย คือ อำเภอบุ่งคล้า และอำเภอโซ่พิสัย
…..
#Thepoint #Newsthepoint
#น้ำท่วม #น้ำโขง #บึงกาฬ