หน้าแรกเศรษฐกิจ'สันติ'คาใจ!!3 ปม แก้พลังงานแพงไร้คำตอบ จี้ถามรัฐคลอดพ.ร.ก.ค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมัน เพิ่มหนี้สาธารณะจำเป็นจริงหรือ??

‘สันติ’คาใจ!!3 ปม แก้พลังงานแพงไร้คำตอบ จี้ถามรัฐคลอดพ.ร.ก.ค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมัน เพิ่มหนี้สาธารณะจำเป็นจริงหรือ??

วันนี้(18 ส.ค. 65) ดร.สันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นที่คาใจต่อกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาวาระลับที่มุ่งแก้ปัญหาฐานะกองทุนน้ำมัน ที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์รวมไปถึง 117,394 ล้านบาท (รายงานเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565) โดยมีมติอนุมัติการออก พ.ร.ก. เพื่อค้ำประกันการกู้ยืมของกองทุนน้ำมัน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และยังอนุมัติงบกลาง 5 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ในระหว่างรอการออก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว
.
โดยระบุว่า เป็นที่เข้าใจได้ว่า ฐานะกองทุนน้ำมันมีปัญหาอย่างหนักในขณะนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่การออก พรก. ซึ่งจะสร้างภาระให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ และหากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต้องนำพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เข้าพิจารณาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบในการออกพระราชกำหนด อย่างไรหรือไม่
.
การแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่ผ่านมานั้น มีคำถามที่ยังค้างคาในสังคมอีกมาก ที่รัฐบาลไม่เคยอธิบายให้เกิดความชัดเจนได้ เช่น

  1. โครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบี้ยว เพราะค่าการกลั่นที่ประหลาดมหัศจรรย์ อย่างน้อยที่สุด ถ้ายอมรับว่าต้องอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ เพราะเป็นตลาดซื้อขายที่มีสภาพคล่องสูง (ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นด้วยอย่างหมดใจ) แต่การบวก FIL (freight, insurance and loss) ซึ่งไม่เกิดขึ้นจริง เพราะไม่มีการขนส่งจากต่างประเทศ ทำไมไม่ลบออก ซึ่งสามารถทำได้ในระยะสั้น
  2. กำไรโรงกลั่นที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนว่า การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นผลผลิตจากโรงกลั่น เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนผู้บริโภคอย่างมากเกินกว่าสมควร ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการแก้ปัญหา แต่กลับไปอ้อนวอนขอร้องให้โรงกลั่นเสียสละกำไรบางส่วน (ซึ่งเล็กน้อยมาก) เพื่อมาช่วยชดเชยการขาดดุลของกองทุนน้ำมัน
  3. การออกพระราชกำหนด ตามมติในการประชุมวาระลับของ ครม. ในเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกระบวนนิติวิธีหรือไม่ เพราะการออกพระราชกำหนดนั้น มาตรา 172 รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ว่า
    .
    “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
    .
    การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ …”
    .
    การออก พ.ร.ก. นี้ จะเป็นไปตามความจำเป็นรีบด่วน ด้วย 4 เหตุที่ปรากฎในวรรคหนึ่ง จริงหรือไม่

“ข้อสงสัยเหล่านี้ ทำให้หมดข้อสงสัยในความสามารถของรัฐบาลต่อการบริหารประเทศ เพราะไม่มีความโปร่งใส ไม่เห็นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ หรือขาดความสามารถโดยสิ้นเชิง ประชาชนผู้รับกรรม จำเป็นต้องทนกับสภาพอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไรครับ ต้องทนกับผู้บริหารประเทศที่ไม่มีความสามารถในการทำงานอย่างนี้ ไปอีกนานเท่าไรครับ”ดร. สันติ กล่าว
.

ThePOINT #ข่าวเศรษฐกิจ #สันติกีระนันทน์ #สร้างอนาคตไทย #ทีมสมคิด #ครม #กองทุนน้ำมัน #พรกค้ำประกันการกู้ยืมของกองทุนน้ำมัน

Must Read

Related News

- Advertisement -